น่าห่วง! สุขภาพเด็กไทย—จากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว

หัวอกคนเป็นพ่อแม่ย่อมเจ็บปวดใจเมื่อเห็นลูกเจ็บป่วย ไม่แข็งแรง แต่คงน่าเจ็บใจ ถ้าหากได้รู้ว่าสาเหตุที่ลูกป่วยนั้นมาจากการขาดสมดุลของพฤติกรรมง่ายๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะการกิน นอน และออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างก็รู้ว่าดี แต่ก็มักมองข้ามไปเพราะไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจไม่รู้ตัวว่าลูกหลานของเรากำลังมีปัญหา ก็ถือเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น

ความหวานซ่อนโรค

มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเด็กกับของหวานนั้นเป็นของคู่กันและกินได้ไม่เป็นอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่าความหวานนั้นเป็นภัยต่อสุขภาพของเด็กไม่แพ้ผู้ใหญ่ ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไป น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วน ซึ่งผลสำรวจจากกรมอนามัยในปี 2564 พบแนวโน้มเด็กไทยติดรสหวานเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ไม่ว่าจะเป็น ชานม น้ำหวาน หรือน้ำอัดลม

ภัยเงียบจากโรคอ้วน

เด็กแก้มยุ้ยอวบอ้วนอาจดูน่ารักในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจหากเด็กมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบเด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคอ้วนสำหรับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นภัยเงียบที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมาย อาจส่งผลกระทบกับร่างกายแทบจะทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะในปัจจุบันพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กที่มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น และที่น่าตกใจก็คือเด็กไทยมีภาวะอ้วนเป็นจำนวนมากจนติดอันดับสามของกลุ่มประเทศอาเซียน

ติดเกมเสี่ยงโตช้า

พ่อแม่บางคนปล่อยให้ลูกใช้เวลาว่างไปกับการเล่นเกมเพื่อคลายเครียดจากการเรียนหนังสือ หรือเพื่อให้ลูกนั่งนิ่งๆ หยุดวิ่งซุกซน ดูเผินๆ ลูกก็เหมือนจะมีความสุขดี แต่หากปล่อยให้ทำเป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชิน ลูกอาจมีพฤติกรรมติดเกม ซึ่งองค์การอนามัยโลกเพิ่งออกมาประกาศให้เป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ และที่น่าห่วงสำหรับเด็กก็คือเรื่องของพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามวัย พฤติกรรมติดเกมอาจนำไปสู่ภาวะนั่งนิ่งจนขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ไม่ได้พัฒนามวลกล้ามเนื้อและกระดูก รวมทั้งการเล่นเกมจนนอนดึกหรือนอนไม่พอก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและพลาดช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน จากงานวิจัยพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กไทย โดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเล่นเกมเป็นประจำทุกวัน เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง และในวันหยุดอาจจะเล่นมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์สุขภาพของเด็กไทยนั้นน่าเป็นห่วงกว่าที่คิด เพราะพฤติกรรมติดหวานจากขนมและเครื่องดื่ม การปล่อยให้มีภาวะอ้วนและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีพฤติกรรมติดเกมจนขาดการออกกำลังกาย และนอนไม่พอ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่มักจะถูกละเลยไปเพียงเพราะคิดว่า “ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” หรือ “ไม่ใช่ปัญหา” แต่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเติบโตตามวัย และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันผลักดันแคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันปรับพฤติกรรมของลูกหลานให้มีความสมดุล โดยเฉพาะ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อน 9-12 ชั่วโมงต่อวัน การออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน และการกินอาหารดีมีประโยชน์ ไม่ขาดผักผลไม้ ทั้ง 3 สมดุลนี้ล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพกายใจของเด็ก

หันมาห่วงใยเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าห่วงกันดีกว่า!

รู้จักสามเหลี่ยมสมดุลเพิ่มเติมได้ที่ https://activekidsthailand.com

วันเด็ก 2567 สุดว้าว! สสส.ปล่อยซิงเกิ้ล เพลง สามเหลี่ยมสมดุล ชวนน้อง ๆ หนู ๆ มาร่วมกันร้อง เล่น เต้น  ออกกำลังกาย แบบไม่เอ้าท์ ไปพร้อมกัน!

วันเด็กปี 2567 นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภูมิใจนำเสนอ MV เพลง สามเหลี่ยมสมดุล เอาใจน้อง ๆ หนู ๆ สายแดนซ์ ให้ชวนเพื่อน ๆ มาออกสเต็ปเต้นไปด้วยกัน หากใครได้ฟังเพลงนี้เรียกได้ว่า ทำนองของเพลงมีสไตล์ออกแนว T-POP ที่สามารถฟังได้ทุกวัย และติดหูได้เร็ว

ไม่ใช่แค่เนื้อเพลงที่จดจำง่าย รูปแบบของท่าเต้นใน MV เพลงสามเหลี่ยมสมดุล ก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะเอาไปเต้น Cover กัน โดยเฉพาะน้อง ๆ ใน MV สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีอย่างลงตัว ทั้งเสียงร้องและท่าเต้น ใครได้รับชมรับรองว่า เผลอร้อง และโยกขยับตามได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่มเลย   

สสส. จึงอยากจะชวนเด็กๆ มารวมตัวกันเต้นโยกซ้ายโยกขวาในจังหวะน่ารัก ๆ ของเพลง สามเหลี่ยมสมดุล เพื่อเรียกรอยยิ้มและความแข็งแรงสดใส พร้อมกับชวนเพื่อน พี่ น้อง คนในครอบครัวมาร่วมเต้นตามกับไปกับ MV นี้กัน

วันเด็กปี 2567 นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภูมิใจนำเสนอ MV เพลง สามเหลี่ยมสมดุล เอาใจน้อง ๆ หนู ๆ สายแดนซ์ ให้ชวนเพื่อน ๆ มาออกสเต็ปเต้นไปด้วยกัน หากใครได้ฟังเพลงนี้เรียกได้ว่า ทำนองของเพลงมีสไตล์ออกแนว T-POP ที่สามารถฟังได้ทุกวัย และติดหูได้เร็ว

ไม่ใช่แค่เนื้อเพลงที่จดจำง่าย รูปแบบของท่าเต้นใน MV เพลงสามเหลี่ยมสมดุล ก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะเอาไปเต้น Cover กัน โดยเฉพาะน้อง ๆ ใน MV สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีอย่างลงตัว ทั้งเสียงร้องและท่าเต้น ใครได้รับชมรับรองว่า เผลอร้อง และโยกขยับตามได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่มเลย   

สสส. จึงอยากจะชวนเด็กๆ มารวมตัวกันเต้นโยกซ้ายโยกขวาในจังหวะน่ารัก ๆ ของเพลง สามเหลี่ยมสมดุล เพื่อเรียกรอยยิ้มและความแข็งแรงสดใส พร้อมกับชวนเพื่อน พี่ น้อง คนในครอบครัวมาร่วมเต้นตามกับไปกับ MV นี้กัน

ไฮไลต์สำคัญเริ่มต้นเพลงด้วยการเปิดท่ามือประสานทั้งสองข้าง ชนกัน นิ้วชี้และนิ้วโป้ง ทำท่าออกมาเป็น สามเหลี่ยม เพื่อให้ท่วงท่า ลีลาการเต้นเข้ากันกับชื่อเพลงได้อย่างน่าจดจำ   

อย่ารอช้า เมื่อได้เห็นสเต็ปแดนซ์พลิ้ว ๆ พร้อมกับเสียงร้องที่สดใสใน MV เพลงสามเหลี่ยมสมดุล สสส. ชวนทุกคนลุกขึ้นมาซ้อมเต้นเพลงนี้กันเถอะ !! หรือว่าน้องคนไหน อยากจะแรปตามก็อย่าลังเล ในเนื้อเพลงมีท่อนแรปเล็กน้อย เพิ่มสไตล์การร้องออกไปแนวสากล รับรองเพลงนี้ติดหู ติดใจ ติดท่าเต้น ชิค ๆ คูล ๆ ได้ไม่ยาก พร้อมแล้วใช่ไหม ไปแรปกัน 5 4 3 2 1

“Yeah! 60 นาที Every day, Yeah! สุขภาพดี Everyday Yeah! Do some activity Everybody, oh baby, be healthy, be happy”

อยากแรปได้คล่องขนาดนี้ ต้องกดเข้าไปฟังแล้วใช่ไหมแบบนี้!!! ส่วน ฉากหลัง MV  เพลงสามเหลี่ยมสมดุล มีการใส่ความเป็นไซไฟ สื่อถึงความทันสมัยในปัจจุบันและอนาคต ยิ่งได้ดูน้อง ๆ ใน MV ที่น่ารักสดใส ขยับลีลาการเต้นสมวัย ยิ่งทำให้เพลงนี้ดูสมูธขึ้นมาเลยทันที

เนื้อเพลงสามเหลี่ยมสมดุลนี้ ถ่ายทอดออกมาเพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคน เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ สามเหลี่ยมสมดุล และการใช้ชีวิตในประจำวัน โดย สสส. อยากให้เพลงนี้ไม่มีความซับซ้อน และแต่ละท่อนในเพลงสามารถอยู่ในทุกกิจกรรมของเด็ก ๆ และมีเป้าหมายส่งเสริมต่อยอดไปถึงสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน นำเพลงนี้ไปเปิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจเรื่องการดูแลเด็กให้สมดุล และเห็นความสำคัญของสามเหลี่ยมสมดุล สสส. หวังว่า เพลงนี้จะสามารถสอดแทรกความสนุกสนานนี้ ในระหว่างการทำกิจกรรมในรั้วโรงเรียนได้

“วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” คือ คีย์หลักของเพลงนี้ เพราะมันคือส่วนประกอบของ “สามเหลี่ยมสมดุล” ที่ สสส. อยากจะให้น้องๆสนใจในเรื่องนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ยุคที่ทุกคนแวดล้อมไปด้วยสื่อและคอนเทนต์มากมาย การที่จะทำให้น้องๆอยู่กับคอนเทนต์นั้น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความสนุก” บวกกับความกล้าที่จะแตกต่าง

นี่จึงทำให้ สสส. ปล่อยบทเพลงสามเหลี่ยมสมดุลนี้มา เพราะนอกจากความรู้และประโยชน์แล้ว ยังมีส่วนผสมของความสนุกที่ลงตัวและทันสมัยอีกด้วย เมื่อ สสส. เป็นห่วงและอยากเล่าเรื่องสามเหลี่ยมสมดุล ให้กับเด็ก ๆ ฟังโดยผ่านบทเพลงนี้ จึงมีท่อนเพลงที่น่าสนใจว่า “เป็นห่วงนะ นอนหลับไหม อยากให้เธอแข็งแรงสดใส Baby”  ซึ่งมุมนี้เราจะได้เห็นถึงความน่ารัก หยอดคำหวานส่งไปให้น้อง ๆ ที่ฟังเพลงนี้ หรือจะส่งต่อให้กับคนที่เรารักและเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของเขาก็ได้อีกด้วยนะ สามเหลี่ยมสมดุลประกอบไปด้วย!

  1. Sleep Sleep oh baby นอนให้พอนะ
  2. Eat eat กินอะไรที่มีประโยชน์นะ
  3. วิ่งเล่นออกกำลังให้ได้ขยับนะ

การทำเพลง ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ขึ้นมา สสส. มีธงหลักคือการทำให้พ่อแม่และผู้ปกครอง ปรับความคิดในการเลี้ยงลูด้วยการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกให้มีความสมดุล ตามแบบของ บทเพลง “สามเหลี่ยมสมดุล” คือต้องไม่เคร่งจนเกินไปและไม่หย่อนยานหรือหละหลวมจนเกินไป หากทำได้เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยทำให้เด็กๆ สมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ

สสส. ยังคงเน้นย้ำและอยากจะชวนมา เต้นออกกำลังกายเพลง “สามเหลี่ยมสมดุล” เพราะว่านอกจากเนื้อเพลงจะเข้าใจง่าย ท่าเต้นยังออกแบบให้เด็กทุกคน รวมถึงผู้ปกครองและคุณครู สามารถนำไปเต้นได้แบบง่ายๆ เหมาะกับการเต้นหรือทำกิจกรรมในครอบครัว สถาบันการศึกษา โรงเรียน เพื่อทำให้เด็กๆ มีกิจกรรมทางกาย ควบคู่กับการรู้จักคำว่าสามเหลี่ยมสมดุลคืออะไรอีกด้วย และการที่ สสส. เน้นไปที่โรงเรียน เพราะที่นี่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กหลายคน ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิต สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ และความคิดของเด็กๆ นั่นหมายความว่า นอกจากพ่อแม่และคนในครอบครัวแล้ว คุณครูก็คือจุดเริ่มต้นที่คอยรับรู้ หรือสร้างการรับรู้ให้กับเด็กๆ ได้ผ่านเพลงนี้

ระวังให้ดี! ลูกนอนไม่พอ เสี่ยงปัญหาตามมาเพียบ

การนอน มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเด็ก การนอนไม่ได้เป็นแค่การพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายหายเหนื่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาทองของการหลั่งฮอร์โมนสำคัญที่มีผลต่อความแข็งแรงและพัฒนาการของเด็กๆ ด้วย  ชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมต่อร่างกายนั้นแตกต่างกันไปตามช่วงวัย สำหรับเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้ 9-12 ชั่วโมงต่อวัน

ช่วงวัยชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมต่อวัน
เด็กทารกอายุ 4-12 เดือน12-16 ชั่วโมง
เด็กเล็กอายุ 1-2 ปี11-14 ชั่วโมง
เด็กวัยอนุบาลอายุ 3-5 ปี10-13 ชั่วโมง
เด็กวัยประถมอายุ 6-12 ปี9-12 ชั่วโมง
เด็กวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี8-10 ชั่วโมง

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ เด็กๆ หลายคนเลิกเรียนที่โรงเรียนก็ช้า แล้วยังต้องไปเรียนพิเศษ ต้องเสียเวลาเดินทางฝ่ารถติดจนถึงบ้าน ต้องทำการบ้าน ทำภารกิจส่วนตัว กว่าจะได้เข้านอนก็ล่วงเลยไปจนดึก มีเวลานอนพักผ่อนน้อย แถมบางคนบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน ทำให้ต้องรีบตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินทาง ยิ่งทำให้มีเวลานอนน้อยลงไปอีก และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เด็กหลายคนมีพฤติกรรมติดเกมและเล่นโทรศัพท์จนเกินเลยเวลาที่ควรจะนอนหลับพักผ่อน ทำให้ชั่วโมงการนอนไม่เพียงพอ

พฤติกรรมการนอนที่ขาดสมดุลในเด็กวัยเรียนนั้นเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด ข้อมูลจาก อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า เด็กที่นอนน้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน สมองจะมีพัฒนาการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ สติปัญญา และสุขภาพจิต เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันที่นอน 9 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อวัน นอกจากนี้ภาวะนอนน้อยในเด็กยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นด้วย

อย่าปล่อยให้ลูกนอนไม่พอ เพราะอาจเสี่ยงปัญหาตามมาเพียบ

  • ปัญหาด้านสุขภาพ ลูกอาจจะป่วยง่ายเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ เพราะการนอนไม่พอทำให้ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ความต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่ำลง ส่งผลให้เจ็บป่วยง่ายไม่สบายบ่อย
  • ปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต ลูกอาจมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะการนอนไม่เพียงพอ และเข้านอนดึกเป็นประจำ ทำให้สูญเสียช่วงเวลาทองที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ในขณะหลับสนิท ทำให้เสียโอกาสในการกระตุ้นสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและความสูงของเด็ก
  • ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ลูกอาจมีน้ำหนักเกินเกณฑ์และเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เพราะเมื่อนอนไม่พอร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเลปตินได้น้อยลง ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความอยากอาหาร ทำให้หิวบ่อย และมีแนวโน้มที่จะกินขนมจุบจิบ กินอาหารแบบเร่งด่วน และกินของไม่มีประโยชน์เพียงเพื่อให้ท้องอิ่ม และการนอนไม่พอยังส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญ ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก
  • ปัญหาจากโรคเรื้อรังในระยะยาว ลูกอาจเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่เด็กไปจนโต เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งเริ่มเป็นได้ตั้งแต่เด็ก และเด็กที่มีน้ำหนักเกินก็มีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินและมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังต่อเนื่องในระยะยาวด้วย
  • ปัญหาด้านการเรียน ลูกอาจมีผลการเรียนแย่ลง เพราะการนอนไม่พอส่งผลต่อการทำงานของคลื่นสมอง ที่ช่วยกระตุ้นระบบจัดเก็บความทรงจำให้ทำงานได้ดี ทำให้ระบบการเรียนรู้และความจำทำงานได้ไม่เต็มที่ และการที่เด็กนอนไม่พอจะรู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลียในระหว่างวัน อาจทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง และเรียนตามเพื่อนไม่ทัน
  • ปัญหาด้านุขภาพจิต ลูกอาจมีภาวะเครียด และมีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะเด็กที่นอนไม่พอมักจะตื่นมาด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น จากการที่ร่างกายไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเหมาะสม ทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวง่าย งอแง ก้าวร้าว และมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่แย่ลง

จะเห็นได้ว่าการนอนไม่พออาจทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อปัญหาได้มากมายขนาดนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันผลักดันแคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านช่วยกันปรับพฤติกรรมของลูกหลานให้มีความสมดุล เพียงใส่ใจดูแล 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 9-12 ชั่วโมงต่อวัน การออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน และการกินอาหารดีมีประโยชน์ครบถ้วน ซึ่งทั้ง 3 สมดุลนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพกายใจของเด็ก ขอเชิญชวนดาวน์โหลด “คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย สามเหลี่ยมสมดุล” ซึ่งภายในคู่มือมีข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อตอบข้อสงสัยในการเลี้ยงลูกให้สมดุล ทั้ง ‘วิ่งเล่น’ ‘กินดี’ ‘นอนพอ’ โดยแบ่งเนื้อหาให้อ่านเข้าใจง่าย และมีแบบฝึกหัดให้ลองปฏิบัติตามได้ที่บ้าน

https://activekidsthailand.com/wp-content/uploads/2023/12/Online_สามเหลี่ยมสมดุล_หน้าเดี่ยว_Final_14-07-66.pdf

พ่อแม่มักไม่เอะใจถึงความไม่สมดุลของลูก กว่าจะเอะใจอาจแก้ไขไม่ทัน

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน การนอน และการออกกำลังกาย หลายคนยอมให้ลูกไม่กินผักผลไม้เพราะลูกไม่ชอบ ยอมให้กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวานน้ำอัดลมเป็นประจำ บางคนปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอจนขาดการออกกำลังกาย หรือยอมให้ลูกเล่นเกมจนนอนดึกแทบทุกวัน พฤติกรรมขาดๆ เกินๆ เหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมายทั้งในระยะสั้นระยะยาว โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด

ปัญหาในระยะสั้นของโรคอ้วนในเด็ก อาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในร่างกายของเด็ก  แทบจะทุกระบบเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น

  • ระบบทางเดินหายใจ – ความอ้วนทำให้เด็กนอนกรน ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นในขณะหลับทำให้มีภาวะหยุดหายใจ ส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เกิดอาการง่วงนอนอ่อนเพลียตอนกลางวัน กระทบต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน
  • ระบบทางเดินอาหาร – ความอ้วนทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง มีพังผืดในตับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความอ้วนทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดแข็งกว่าปกติ เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม กลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระบบต่อมไร้ท่อ เด็กอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และอาจจะเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ระบบสืบพันธุ์ – โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนผิดปกติ มีถุงน้ำในรังไข่ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

ปัญหาในระยะยาวของโรคอ้วนในเด็ก อาจทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง ส่งผลกระทบต่อสมองและจิตใจ และยังมีผลต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต ตัวอย่างเช่น ภาวะปวดหัวเรื้อรังที่มาจากการมีความดันโลหิตสูงในกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนหนังสือ การมีความภูมิใจในตนเองต่ำหรือการถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่างอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและภาวะซึมเศร้า

ผู้ใหญ่หลายคนยังเข้าใจว่า “อ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร เดี๋ยวโตไปก็ยืด” ข้อเท็จจริงก็คือ แม้ตัวจะยืด แต่ถุงเก็บไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ตั้งแต่เด็กนั้นยังคงมีเพียบ และเฝ้ารอวันพองขึ้นมาแบบเงียบๆ จากสถิติพบว่าเด็กน้ำหนักเกิน 55% จะโตไปเป็นวัยรุ่นที่น้ำหนักเกิน และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะโตไปแล้วผอมลง แต่ก็อาจจะกลับมาอ้วนได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไปเพราะถุงไขมันที่สะสมไว้นั่นเอง

สาเหตุของเด็กอ้วนไม่ได้มีแค่เรื่องการกิน เมื่อพูดถึงต้นเหตุของความอ้วน ผู้ต้องสงสัยรายแรกที่คือเรื่องการกินอาหารที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการกินอาหารสำเร็จรูปที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ การกินอาหารหวาน มัน เค็ม มากไป และไม่ค่อยกินผักผลไม้

นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังเกิดจากการขาดสมดุลด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย มีพฤติกรรมเนือยนิ่งจนไม่ได้เผาผลาญพลังงานอย่างเพียงพอ กลายเป็นไขมันสะสม โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ชอบนั่งดูทีวี เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกม นอกจากจะมีผลทำให้สมาธิสั้นแล้วยังมีผลกระทบต่อตัวบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น น้ำหนัก รอบเอว ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

และตัวการสุดท้ายที่หลายคนคาดไม่ถึงคือเรื่องของการนอน การนอนไม่พอนั้นส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เพิ่มความอยากอาหาร และปั่นป่วนระบบเผาผลาญ และยังทำให้ขาดความสมดุลของฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว คือ เกรลินฮอร์โมน ที่จะหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิว และ ฮอร์โมนอิ่ม หรือเลปตินฮอร์โมน ที่จะหลั่งลดลงจนส่งผลให้กินอาหารแล้วไม่ค่อยอิ่ม ทำให้ยิ่งกินเยอะกว่าเดิม

จะเห็นได้ว่า ทั้งการกิน การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน แม้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่รู้กันดี แต่มักจะไม่เอะใจว่ามันสำคัญ ทำให้ปล่อยปละละเลยไป จนลูกเคยชินกับพฤติกรรมที่ไม่สมดุล และส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เพราะเด็กสมดุลได้ด้วยสามเหลี่ยมสมดุล คือ วิ่งเล่น กินดี นอนพอ 

ถ้าสงสัยว่าลูกของเรามีพฤติกรรมการกิน นอน เล่นที่สมดุลหรือไม่? สสส. ขอชวนมาตรวจเช็กกันได้ที่เว็บไซต์ https://activekidsthailand.com/  กับแบบประเมินออนไลน์ที่เข้าใจง่ายและใช้เวลาไม่นาน เป็นตัวช่วยให้พ่อแม่ได้ประเมินน้ำหนัก ส่วนสูง และพฤติกรรมการกิน นอน เล่น ของเด็กๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ทันทีว่ายังขาดหรือเกินด้านไหน และควรปรับปรุงเรื่องไหนเป็นพิเศษ

มาร่วมช่วยให้ลูกมีสามเหลี่ยมสมดุล วิ่งเล่น กินดี นอนพอ ก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไขไม่ทัน

ลูกกินเยอะ นอนเยอะ เล่นเก่ง แต่ทำไมยังไม่สมดุล?

พ่อแม่หลายคนสงสัยว่าทำไมลูก “กินเยอะ” “นอนเยอะ” “เล่นเก่ง” แต่กลับไม่ค่อยแข็งแรง มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือมีพัฒนาการทางร่างกายไม่สมกับวัย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า…

  • ลูกกินเยอะก็จริง แต่เป็นการกินขนมกรุบกรอบเยอะ กินขนมหวานเยอะ และกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเยอะ โดยไม่ค่อยกินผักผลไม้ และไม่ได้กินอาหารครบห้าหมู่
  • ลูกนอนเยอะก็จริง แต่ปล่อยให้ลูกนอนดึกตื่นสาย นอนไม่เป็นเวลา และไม่ได้มีชั่วโมงการนอนหลับที่มีคุณภาพ
  • ลูกเล่นเก่งก็จริง แต่หมายถึงการเล่นเกมเก่ง มีพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานๆ โดยขาดการออกไปวิ่งเล่นเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ

ถึงแม้ลูกจะ ‘กินเยอะ นอนเยอะ เล่นเก่ง’ แต่ถ้ามาจากพฤติกรรมที่ไม่สมดุล ก็ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ คือการปล่อยให้ลูกเล่นเกมเยอะเกินไป นอกจากจะทำให้ขาดการออกกำลังกาย ยังทำให้ลูกนอนดึก นอนไม่พอ ทำให้หิวบ่อย กินอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินแบบรีบๆ ไม่ครบถ้วน มีแนวโน้มที่ร่างกายและกระดูกจะไม่แข็งแรง ไม่ได้รับโกรทฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาขณะนอนหลับ และอาจมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ทั้งหมดล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมดุลที่ส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสุขภาพของเด็ก

การกิน การนอน และการเล่น คือสามเรื่องสำคัญสำหรับเด็กวัยเรียนที่ควรปฏิบัติให้สมดุล เพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาพดี มีพัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตทางร่างกายที่เหมาะสมกับวัย เปรียบได้กับ 3 ด้านของสามเหลี่ยมที่จะต้องมีความสมดุลกัน ขาดด้านหนึ่งด้านใดไปไม่ได้ ถึงจะทำให้สามเหลี่ยมนั้นมั่นคง แข็งแรง และสวยงาม และปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ…

  • เล่นเยอะนั้นดีถ้าได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย เด็กๆ ควรได้เคลื่อนไหวร่างกายและมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน
  • กินเยอะนั้นดีถ้ากินดีมีประโยชน์ เด็กๆ ควรกินอาหารที่ครบถ้วนห้าหมู่ตามหลักโภชนาการ ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ
  • นอนเยอะนั้นดีถ้าได้นอนดีมีคุณภาพ เด็กๆ ควรเข้านอนแต่หัวค่ำ นอนเป็นเวลาสม่ำเสมอ และนอนเพียงพอ อย่างน้อย 9-12 ชั่วโมงต่อวัน 

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของพฤติกรรมการกิน นอน เล่น ที่สมดุล ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเด็กๆ และทั้งสามอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

“ถ้ากินพอ ครบถ้วน ร่างกายก็จะเจริญเติบโตได้ดี และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญเติบโต ถ้าหากว่าเด็กได้กินดี ร่างกายก็เจริญเติบโตดี สมองก็ได้รับอาหารที่ดี มันก็จะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเช่น ด้านการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านสติปัญญา ด้านภาษา ด้านอารมณ์และสังคม

“เวลาที่เรานอน ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในช่วงของการนอนก็จะหลั่ง โดยเฉพาะฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตที่เราเรียกว่าโกรทฮอร์โมน ถ้าเวลากลางคืนแต่เราไม่หลับ โกรทฮอร์โมนก็ไม่หลั่ง ร่างกายก็เสียสมดุล ทำให้ทำงานบกพร่องไม่ปกติ และอาจทำให้เจ็บป่วยง่ายด้วย

“ส่วนการออกกำลังกายนั้นมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เมื่อกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงก็จะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกายให้แข็งแรง และช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้ดีตามไปด้วย”

อยากรู้วิธีส่งเสริมพฤติกรรมที่สมดุล—เริ่มต้นยังไงดี?

จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมพฤติกรรม ‘วิ่งเล่น’ ‘กินดี’ และ ‘นอนพอ’ ที่สมดุล เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองคือผู้ที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลกับเด็กๆ มากที่สุด เป็นคนสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกหลาน ผ่านแนวทางการอบรมเลี้ยงดู และการสร้างตัวอย่างที่ดีให้เห็น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จึงขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่าน มาสร้างความรู้ความใจที่ถูกต้องร่วมกัน ผ่าน “คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย สามเหลี่ยมสมดุล” ซึ่งภายในคู่มือนี้มีข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อช่วยคลายข้อสงสัยในการเลี้ยงลูกให้สมดุล โดยเฉพาะการออกกำลังกาย การกินอาหาร และการนอนหลับ ในรูปแบบที่อ่านเข้าใจง่าย ทำตามได้ไม่ยาก

สามารถดาวน์โหลดได้ที่: https://activekidsthailand.com/wp-content/uploads/2023/12/Online_สามเหลี่ยมสมดุล_หน้าเดี่ยว_Final_14-07-66.pdf

งานวิจัยยืนยันการวิ่งเล่นออกกำลังกายทำให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น

เด็กๆ กับการวิ่งเล่นออกกำลังกายนั้นเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กๆ ได้ออกไปวิ่งเล่นน้อยลง เด็กบางคนต้องเรียนเยอะจนไม่มีเวลาว่าง บางคนเสียเวลาไปกับการเดินทางเพราะรถติดหนัก หรือบางคนก็ไม่สนใจการออกไปวิ่งเล่นเพราะสนุกกับโทรศัพท์มือถือมากกว่า และโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเว้นระยะห่าง งดกิจกรรมนอกบ้าน และสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นออกกำลังกายลดลง ในขณะที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อดูข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทยในปี 2565 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าเด็กไทยถึง 3 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อร่างกายที่กำลังอยู่ในวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโต และที่น่าห่วงเป็นพิเศษก็คือ ภาวะเครียด ที่กำลังเป็นภัยเงียบคุกคามเด็กไทย

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เผยว่า มีเด็กและวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปีกว่า 10,000 คน โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา โดยปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า ในขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2562 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-29 ปี ราว 800 คนฆ่าตัวตายสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงสานพลังร่วมกันผ่านแคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” เพื่อส่งต่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างแรงกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของดูแลลูกหลานให้เจริญเติบโตสมวัย มีสุขภาพดีแข็งแรง ด้วยการปรับสามพฤติกรรมหลักที่ต้องทำร่วมกันอย่างสมดุล นั่นคือ การออกกำลังกาย การกินอาหาร และการนอนหลับพักผ่อน หนึ่งในความสมดุลที่สำคัญ คือการวิ่งเล่นออกกำลังกาย ที่นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ มีร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ยังส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์ ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นมากขึ้นทุกวัน งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ช่วยส่งเสริมอารมณ์และความรู้สึกเชิงบวกได้ ไม่ว่าจะเป็น โดปามีน เซโรโทนิน และเอ็นดอฟีน ตัวอย่างเช่น จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health พบว่าการออกกำลังกายนั้นส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกในเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมกิจกรรมทางกายนั้นมีอารมณ์เชิงบวกมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นเวลา 30–60 นาทีในวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 12 ปี ช่วยเพิ่มอารมณ์เชิงบวกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทำความรู้จักฮอร์โมนอารมณ์ดีที่ได้จากการออกกำลังกาย:

  • โดปามีน (Dopamine) เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยให้สมองส่งสัญญาณไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ต่างๆ สื่อสารระหว่างกันได้ โดปามีนเป็นส่วนสำคัญของระบบการให้รางวัลของสมอง เกี่ยวข้องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน เช่น การเคลื่อนไหว และความรู้สึกพึงพอใจ เวลาที่ออกกำลังกาย สมองจะถูกกระตุ้นให้สร้างโดปามีน ทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข และถ้าออกกำลังกายเป็นประจำก็ยิ่งกระตุ้นให้โดปามีนเพิ่มขึ้น ในการวิจัยทดลองแบบสุ่ม ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ที่รักษาอาการใช้สารเสพติดโดยให้ทำกิจกรรมออกกำลังกาย เดิน และวิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังจาก 8 สัปดาห์ผ่านไปตรวจพบสารโดปามีนในสมองเพิ่มขึ้น และทำให้รู้สึกดีมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเสพติด
  • เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทนี้ช่วยควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ ช่วยในการนอนหลับ เพิ่มความอยากอาหาร และการย่อยอาหาร ช่วยในการเรียนรู้ และความจำ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medical Hypotheses พบว่าการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อให้ร่างกายได้รับแสงแดด ช่วยกระตุ้นการผลิตสารเซโรโทนินในร่างกาย ผู้ที่มีเซโรโทนินต่ำมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า
  • เอ็นโดรฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนนี้ถือเป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติของร่างกายเลยก็ว่าได้ โดยร่างกายผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปทาลามัส เพื่อตอบสนองต่อความเครียดหรือความรู้สึกไม่สบาย ช่วยกระตุ้นความรู้สึกเชิงบวกในร่างกาย ช่วยให้เกิดความรู้สึกดี มีความสุข ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ ซึ่งการออกกำลังกายถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินได้ดี
  • ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นอีกหนึ่งฮอร์โมนที่ส่งผลเชิงบวกต่อร่างกาย ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย เป็นที่รู้จักในชื่อของฮอร์โมนแห่งสายสัมพันธ์ เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกไว้ใจเชื่อใจ ผูกพัน และเอาใจใส่กันและกัน เช่นสายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว หรือแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรและให้นมบุตร ฮอร์โมนออกซิโตซินนอกจากจะถูกกระตุ้นผ่านการกอดและสัมผัสที่อบอุ่นแล้ว ยังพบว่าสามารถเพิ่มได้ผ่านการออกกำลังกาย ตัวอย่างงานวิจัยจากวารสาร Nature ในปี 2018 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เล่นกีฬาศิลปะการต่อสู้ที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้นมีระดับฮอร์โมนออกซิโตซินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ มีความสุขได้ผ่านฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย พ่อแม่ควรสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกได้วิ่งเล่นเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมถึงการกินดี และนอนพอ ที่ต้องทำร่วมกันอย่างสมดุล เพียงพอ และเหมาะสม จะช่วยให้เด็กๆ มีร่างกายแข็งแรง เติบโตสมวัย สุขภาพจิตดี เป็นพื้นฐานสำคัญทั้งในวันนี้และต่อไปในอนาคต

ขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่าน มาสร้างความรู้ความใจที่ถูกต้องร่วมกัน ผ่าน “คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย สามเหลี่ยมสมดุล” ซึ่งภายในคู่มือนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยในการเลี้ยงลูกให้สมดุล โดยเฉพาะสามสมดุลหลัก คือ การออกกำลังกาย การกินอาหาร และการนอนหลับ โดยเนื้อหาแบ่งให้เข้าใจง่าย และมีแบบฝึกหัดให้ลองปฏิบัติตาม สามารถดาวน์โหลดมาอ่านกันได้ที่: https://activekidsthailand.com/wp-content/uploads/2023/12/Online_สามเหลี่ยมสมดุล_หน้าเดี่ยว_Final_14-07-66.pdf

อ้างอิง:

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9657539/

https://www.insider.com/guides/health/mental-health/happy-hormones

https://www.nature.com/articles/s41598-019-49620-0?utm_medium=affiliate&utm_source=commission_junction&utm_campaign=CONR_PF018_ECOM_GL_PHSS_ALWYS_DEEPLINK&utm_content=textlink&utm_term=PID100024933&CJEVENT=460d468089c011ee81f904bf0a18b8fc

คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ตัวช่วยสำหรับพ่อแม่ พร้อมดาวน์โหลดฟรีแล้ววันนี้!

บ้านไหนเป็นแบบนี้บ้าง?

  • พอลูกอยู่นิ่งๆ กับหน้าจอแล้วคิดว่าเด็กมีสมาธิดี ดีกว่าลูกวิ่งซนให้ปวดหัว
  • ขอแค่ลูกกินเก่งๆ ตัวจ้ำม่ำ ก็ดูแข็งแรงดี กว่ากินน้อยผอมโซอีก
  • ลูกจะนอนแล้วตื่นเวลาไหนก็ได้หมด เอาที่ลูกได้นอนเยอะๆ ก็พอ

รู้ไหมว่า พฤติกรรมลูกแบบนี้อาจจะแปลว่า แต่ละด้านของสามเหลี่ยมไม่สมดุลแล้ว ซึ่งมันจะกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพของเด็กได้

คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำขึ้นเล่มนี้ จะมาตอบข้อสงสัยของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย กิจวัตรประจำวัน อาหารการกิน ไปจนถึงการพักผ่อนและเวลานอนหลับอย่างเพียงพอของลูก โดยเนื้อหาแบ่งให้เข้าใจง่ายเป็นบท ‘วิ่งเล่น’ ‘กินดี’ ‘นอนพอ’

วิ่งเล่น:

ชวนพ่อแม่สร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกได้วิ่งเล่น โดยบอกเล่าประโยชน์ของการทำกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม พร้อมแนะนำ 12 กิจกรรมเล่นง่ายๆ ที่บ้านได้ทุกวัน สอดแทรกแบบฝึกหัดที่ช่วยให้ทุกคนในครอบครัวลดพฤติกรรมติดหน้าจอได้

กินดี:

อาหารส่งผลต่อร่างกายและสติปัญญาของลูกได้อย่างไร หาคำตอบได้ใน เนื้อหา ‘กินดี’ แถมตัวช่วย ‘สัดส่วนจานสุขภาพ’ ให้พ่อแม่จัดอาหารแต่ละมื้อของลูกได้อย่างสมดุลอย่างง่าย ขั้นตอนการอ่านฉลากโภชนาการให้ถูกต้อง และตารางวางแผนมื้ออาหารให้ลองทำด้วยตัวเอง

นอนพอ:

พบกับ ‘5 ความมหัศจรรย์ของร่างกาย เมื่อนอนพอ!’ ที่ทำให้รู้ว่าการ ‘นอนที่เพียงพอและมีคุณภาพ สำหรับเด็กสำคัญอย่างไร เด็กวัยไหนควรนอนกี่ชั่วโมงต่อวัน พ่อแม่จะช่วยจัดตารางการเข้านอน สิ่งแวดล้อมในห้องนอน และสร้างพฤติกรรมการนอนที่เหมาะสมให้ลูกอย่างไร

ในคู่มือเล่มนี้ยังมีกราฟที่จะช่วยให้พ่อแม่ประเมินการเจริญเติบโตของลูกได้ว่า น้ำหนักอิงกับส่วนสูงนั้นสมดุลหรือไม่ พร้อมทั้งเนื้อหาอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับพ่อแม่ที่กำลังหาข้อมูลและวิธีการที่จะทำให้ลูกมีพัฒนาการตามวัยได้อย่างเหมาะสม แบบอ่านเข้าใจง่ายและมีแบบฝึกหัดให้ลองปฏิบัติตาม   ดาวโหลดไว้อ่านฟรีได้เลย! คู่มือเลี้ยงลูก 6-12 ปี ให้พัฒนาการดีรอบด้านด้วย ‘สามเหลี่ยมสมดุล’

ที่: https://activekidsthailand.com/wp-content/uploads/2023/12/Online_สามเหลี่ยมสมดุล_หน้าเดี่ยว_Final_14-07-66.pdf

“กินอะไรก็ได้” ไม่ได้สำหรับเด็ก เพราะถ้ากินไม่ครบ การเติบโตระยะยาวไม่สมดุล

การกินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็กๆ แต่ “การกินที่ดี” นั้นต้องไม่ใช่แค่ “กินอะไรก็ได้”

Continue reading

สสส. Kick-off เปิดศาลท่านเปา ประหารความไม่สมดุล ชวนพ่อแม่ – ผู้ปกครอง รู้ทันวิธีเลี้ยงเด็กผ่านแคมเปญ “สามเหลี่ยมสมดุล”

เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่า ถ้าการที่ “เด็กมีปัญหาสุขภาพ” ถูกนิยามให้กลายเป็นความผิดที่ต้องนำไปไต่สวนหาผู้รับผิดในชั้นศาล ใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เด็ก หรือ ผู้ปกครอง หรือ โรงเรียน หรือ เพื่อน หรือ ร้านค้า หรือ ใครกันแน่ที่ต้องมารับความผิดกับเรื่องนี้

ปัจจุบันวิธีการเลี้ยงเด็กแต่ละครอบครัวมีวิธีการแตกต่างกัน ด้วยความจำเป็นของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งชีวิตความเป็นอยู่ ที่อาจจะไม่เอื้อให้การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ได้รับการดูแลอย่างสมดุล เช่น บางครอบครัวที่มีความจำเป็นที่ต้องให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือเพราะไม่มีเวลา จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดกิจกรรมทางกาย จึงส่งผลต่อสุขภาพ หรือการที่เด็กคนหนึ่งต้องกลายเป็น ‘เด็กอ้วน’ อาจเกิดจากการวิถีชีวิตที่เร่งรีบจึงไม่สามารถเลือกอาหารตามหลักโภชนาการให้กับเด็กได้ หรือการที่ผู้ปกครองมีภารกิจจึงไม่สามารถพาเด็กเข้านอนได้ตรงกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำให้เด็กเติบโตได้สมวัย จากสถานการณ์และสมมติฐานที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บ่มเพาะความรู้ที่จะจุดประกายให้ผู้ปกครอง ผู้ใกล้ชิด รวมถึงคุณครูทุกคน มารู้จักและเรียนรู้วิธีการเลี้ยงเด็กให้มีชีวิตที่สมดุล สามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้สมวัยได้ ผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ที่ต้องการใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอสั้น ให้ผู้ปกครองตระหนัก เห็นคุณค่า รู้วิธีและใส่ใจที่จะดูแลเด็กให้ ‘วิ่งเล่น กินดี นอนพอ’ ตั้งแต่อายุยังน้อย

สสส. ชวนทุกคนมารู้จักคลิป ‘พลิกปมคดีเด็ก’ ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เริ่มต้นจากการไต่สวนคดีอย่างเข้มข้น จนท่านเปาก็พบว่า เด็กก็ใช้ชีวิตของเขาไปตามวิถีที่เคยชินมาตั้งแต่เกิด ส่วนพ่อแม่ก็เชื่อมั่นมาตลอดว่าได้ดูแลลูกอย่างถูกต้องตามความสามารถที่พวกเขามีแล้ว แต่ทั้งเด็กและพ่อแม่ กลับยังหนีไม่พ้นที่จะพบเจอปัญหาสุขภาพของเด็ก ซึ่งในที่สุดตัวปัญหาก็ปรากฎตัวขึ้นในศาล เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า “ความไม่สมดุล”

จะเป็นอย่างไร ถ้า “ความไม่สมดุล” คือ ผู้ร้ายตัวจริง … ผู้ร้ายที่ทำให้เด็กไม่ได้วิ่งเล่นออกกำลังกายมากพอ จนทำให้เด็กไม่ได้กินดีสมวัยตามหลักโภชนาการที่ควรจะเป็น หรือทำให้เด็กไม่ได้นอนพอเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและร่างกาย ในหนังจึงต้องการสื่อสารเรื่องนี้ผ่านการเล่าเรื่องให้เห็นว่ามีวิธีกำจัดการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกวิธีทิ้งไปได้ด้วยการ “ประหารความไม่สมดุล” ที่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ทำได้

คลิป พลิกปมคดีเด็ก สะท้อนว่า การ “ประหารความไม่สมดุล” ของผู้ปกครองทุกครอบครัว ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการลงโทษหรือบังคับแก้ไขได้ด้วยการโยนความรับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปให้เป็นภาระหน้าที่ของเด็กเอง แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องร่วมมือช่วยกันประหารความไม่สมดุลในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเริ่มจากการช่วยกันทบทวนวิธีการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง ให้ถูกต้องตามหลักสามเหลี่ยมสมดุล

เพราะเมื่อหาจุดที่เป็นปัญหาเจอ พ่อแม่ก็จะสามารถใช้เครื่องประหารรุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า “สามเหลี่ยมสมดุล” – “วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” ได้

และเมื่อได้รู้จักการ“ประหารความไม่สมดุล” จากคลิป ‘พลิกปมคดีเด็ก’ มากขึ้น สสส. หวังว่า พ่อแม่ที่รับชมจะสัมผัสและเรียนรู้วิธีเลี้ยงเด็กให้พวกเขาเติบโตสมวัยและมีสุขภาวะที่ดี สสส. หวังว่าทุกคนจะเดินออกจากศาลได้ด้วยความเข้าใจใหม่ หลังรับชมแคมเปญนี้ ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นว่าพวกเราสามารถช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับลูกได้ด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่า “สามเหลี่ยมสมดุล” ผ่าน 3 วิธี คือ

  1. สร้างกติกาเล่นโทรศัพท์มือถือ ชวนลูก “วิ่งเล่น” ออกกำลังกาย
  2. ออกแบบมื้ออาหารให้ลูก “กินดี ” มีผักผลไม้ให้ได้ครึ่งนึงในแต่ละมื้อ
  3. ส่งลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ ปิดไฟ ปิดเสียง ช่วยให้เด็ก “นอนพอ”

เพื่อร่างกาย สมอง ที่เติบโตสมวัย พร้อมเรียนรู้และมีความสุข

สสส. ชวน ‘แกล้งลูก’ ผ่านกลวิธีสร้างสุขภาวะดี ในแคมเปญ ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ หลังพบปัญหาใหญ่ !! เด็กไทยอ้วน ติดอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน

ถึงเวลาแล้วที่ “พ่อแม่” ต้องทวงคืน “ความสมดุล” ในชีวิต ให้กับเด็กร่วมกัน ด้วยการมาเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของลูกให้เป็น  “เด็กสมดุล” ด้วยการร่วมท้าทายให้พ่อแม่ หา “กลวิธีต่างๆ” มาชักชวนให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักสามเหลี่ยมสมดุล “วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” ผ่านคลิปวิดีโอที่ใช้ชื่อว่า ‘แกล้งลูก’ ที่ต้องการสื่อสารจุดประกายให้ผู้ปกครองลุกขึ้นมาชวนลูกวิ่งเล่น เตรียมอาหารบนโต๊ะกินข้าวให้ถูกหลักโภชนาการ และรู้เวลานอนหลับพักผ่อนที่ถูกต้องเพื่อที่จะทำให้เด็กเติบโตสมวัยและสมดุล

เคล็ดไม่ลับที่สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำมาฉายภาพผ่านคลิปวิดีโอชื่อว่า ‘แกล้งลูก’ ไม่ได้ต้องการทำให้ผู้ปกครองหรือสังคมเข้าใจผิดว่าต้องใช้วิธีที่แกล้งเด็กจริงๆ ถึงทำให้พวกเขามีสุขภาวะทางกาย ใจ สังคมที่ดีได้ แต่ในคลิปวิดีโอแคมเปญ ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ สอดแทรกเรื่องราวที่ทำให้เห็นว่าผู้ปกครองสามารถทำให้ลูกได้ ‘วิ่งเล่น กินดี นอนพอ’ ได้อย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือมีลูกหลายคน

หากพูดถึงหลักวิชาการที่นำมาใช้ทำคลิปวิดีโอชุดนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย กลั่นประเด็นที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงเด็กเอาไว้ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. วิ่งเล่น (Physical Activity) คือการทำให้เด็กมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายในระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน
  2. กินดี (Healthy Eating) ผู้ปกครองต้องทำอาหารหรือเลือกอาหารวางบนโต๊ะให้เด็กกินถูกต้องตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำทุกวัน และ
  3. นอนพอ (Sleep Hygiene) คือการที่ผู้ปกครองต้องทำให้เด็กนอนหลับในช่วงเวลาที่ดี เหมาะสม และเพียงพอ คือเข้านอนแต่หัวค่ำช่วง 3 ทุ่มอย่างสม่ำเสมอ และต้องนอนรวม ให้ได้ 9-12 ชั่วโมงต่อวัน

สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. อธิบายความจำเป็นของการผลักดันแคมเปญ “สามเหลี่ยมสมดุล” ว่า ต้องการทำให้เรื่องนี้เป็นที่รู้จักในสังคม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูในโรงเรียน ให้หันมาสนใจและใส่ใจปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กๆ ในสังคมไทย ด้วยการชวนให้ทุกคนที่ได้ดูคลิปวิดีโอ ‘แกล้งลูก’ ตระหนักเรื่องความสมดุลในชีวิตของเด็ก ทั้งเรื่องการมีกิจกรรมทางกาย กินอาหาร และการนอนหลับพักผ่อน ที่ไม่ใช่แค่การวัดกันที่น้ำหนักกับส่วนสูงที่ต้องมีมาตรฐานตามเกณฑ์ แต่หมายถึงการสร้างพฤติกรรมของเด็ก เพราะเป็นโอกาสทองที่จะทำให้เขามีสุขภาวะดีรอบด้าน ตั้งแต่การกิน การนอน การทำกิจกรรมต่างๆ หากทำ 3 สิ่งนี้ได้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กไทยสมดุลได้

“อยากเชียร์ให้ผู้ปกครองลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับลูกๆของพวกเขาเอง เราก็เลยใช้คอนเซ็ปต์เรื่องแกล้ง เพื่อบอกพ่อแม่ว่า จะต้องหาวิธีแบบเนียนๆ ที่ทำให้ลูกเกิดกิจกรรม วิ่งเล่น กินดี นอนพอ โดยที่เขาไม่ทันรู้ตัว ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือยัดเยียดให้ทำ ดังนั้นหนังสั้น “แกล้งลูก” จึงเป็นการท้าทายพ่อแม่ชาวไทย ให้ร่วมสนุกไปกับเรา ด้วยการสร้างสรรค์กลวิธีต่างๆที่จะสร้างสามเหลี่ยมสมดุลให้เกิดขึ้นกับลูก ทำให้ลูกรู้สึกยอมรับมันด้วยตัวเอง”

ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. บอกทิ้งท้ายเกี่ยวกับคลิปวิดีโอ ‘แกล้งลูก’ ในแคมเปญ ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ว่า หัวใจสำคัญของ สสส. คือการพยายามจะชวนให้สังคมตระหนักถึงการคอยสังเกตพฤติกรรมและการเติบโตของลูกหลานได้ เป้าหมายใหญ่คือการทำให้ผู้ปกครอง โรงเรียน ครู รับรู้เรื่องหรือสร้าง Awareness ในเรื่อง ‘วิ่งเล่น กินดี นอนพอ’ อย่างถูกวิธีในวงกว้างและมากที่สุด รับชมคลิปวิดีโอ ‘แกล้งลูก’ ในแคมเปญ ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ของ สสส.