“ทีมวิจัยทีแพค” เข้าร่วมและเสนอผลงานทางวิชาการในการประชุม 2023 Taiwan International Conference on Physical Activity and Exercise Sciences

วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) และ อาจารย์ ดร.ดียะฮฺ อนานตาเลีย วิดิยาสตาริ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเครือข่ายวิชาการนานาชาติ

Continue reading

21 th MU SAFE SCHOOL VIRTUAL WORKSHOP “เรียนรู้ความปลอดภัยในโลกยุคศวรรษที่ 21”

หัวข้อเรื่อง “เรียนรู้ความปลอดภัยในโลกยุคศวรรษที่ 21” เรื่อง “เล่น-เรียน-รู้ อย่างมีสุข ทุกคนปลอดภัย”

วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 คุณปัญญา ชูเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมพูดคุยในการอบรมเชิงปฏิบัติการโรงเรียนปลอดภัย ครั้งที่ 21 (21 th MU SAFE SCHOOL VIRTUAL WORKSHOP) หัวข้อ “มีเด็กไทยเพียง 1/4 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามข้อแนะนำองค์การอนามัยโลก Active School ได้เพิ่มโอกาสให้เด็ก เล่น-เรียน-รู้ อย่างมีความสุข ปลอดโรคและปลอดภัย” ได้นำเสนอแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบ 4PC (Active Policy นโยบาย, Active Classroom ห้องเรียน, Active People บุคลากร, Active Place พื้นที่, Active Program กิจกรรม) เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็ก ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และยังสามารถช่วยกระตุ้นเสริมพัฒนาการทั้ง 5 มิติ ให้กับเด็ก ถือเป็นโจทย์สำคัญของคุณครูที่จะทำอย่างไรให้เด็กได้เคลื่อนไหว ออกแรง วิ่งเล่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สะสมเฉลี่ยให้ได้ และควรมีกิจกรรมประเภทเสริมสร้างความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ กระดูก และสร้างความยืดเหยียดอย่างน้อย 3 วันๆ ละ 30 นาที สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่…https://bit.ly/3BIF8FW

โดยการอบรมในครั้งนี้ร่วมกับวิทยากรรับเชิญอีก 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์.ดร. ชฎารัตน์ เฮงษฎีกูล, ครูน้ำฝน ศรีใส และ พว. ชฎาพจ สุขสิริวรรณ ซึ่งจัดขึ้นด้วยรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง zoom meeting จำนวน มากกว่า 1,000 คน และทาง facebook live มากกว่า 1,600 คน

รับชมย้อนหลังได้ที่…https://fb.watch/kDZ0kUApX8/?mibextid=CDWPTG

4 มาตรฐาน ของการให้ความรู้และดูแลเด็กปฐมวัยที่ผู้ใหญ่ต้องทราบ !!!

นับเป็นชุดเครื่องมือที่มีเป้าหมายโดยตรงเพื่อสื่อสารและกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู ผู้ดูแลเด็กทั้งในโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย ในประเทศกลุ่มสมาชิกและโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ได้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้รับการส่งเสริมความรู้และการดูแลที่เหมาะสมตามพัฒนาการของช่วงวัย อันจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ (1)

ชุดเครื่องมือดังกล่าว ได้นำเสนอกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ด้านการให้ความรู้และดูแลเด็กปฐมวัยในภาพรวมไว้ 4 มาตรฐาน อันมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้  (1)

STANDARD 1: Build children’s knowledge and skills ที่ว่าด้วยเรื่อง การที่สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยได้ผนวกรวมโอกาสที่จะสร้างความรู้และทักษะด้านการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหวเข้าไปในแผนและกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละวันของเด็ก ๆ (สร้างโอกาสในการเรียนรู้และทักษะ)

STANDARD 2: Provide supportive environments ที่หมายถึง การที่สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยออกแบบและส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหว โดยพิจารณาถึงหลักของความหลากหลาย การมีส่วนร่วม ความเสมอภาค และการอยู่ร่วมกัน (สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างเสมอภาค)

STANDARD 3: Work with families/caregivers ที่สนับสนุนให้สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ครอบครัว รวมถึงผู้ดูแลระดับปฐมวัย ในการส่งเสริม ออกแบบ และตัดสินใจในประเด็นเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหว (ทุกฝ่ายร่วมเอาใจใส่ดูแล)

STANDARD 4: Ensure safety ที่ประสงค์ให้สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยรับรองความปลอดภัยของเด็ก ๆ ในเรื่องของการนอน สุขอนามัยและการจัดการในทางปฏิบัติด้านอาหาร รวมถึงการจัดสรรให้เกิดความปลอดภัยในการเข้าถึง การอยู่ร่วมกันบนฐานของวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมในเรื่องการเล่น และโอกาสในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสร้างสมรรถนะ (เข้าถึงอย่างปลอดภัย)

ทั้งนี้ 4 มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น เมื่อศึกษาในรายละเอียดอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อนหน้านี้ ทว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อดูแลเด็กปฐมวัยในสถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยที่ให้ความสำคัญหรือจุดเน้นในเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอน ยังไม่ได้ถูกกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและครอบคลุมทั้ง 4 มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีเริ่มที่ฝ่ายนโยบายในการดูแลเด็กปฐมวัย ที่จะหยิบและนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ไปออกแบบให้เกิดมาตรการสำหรับการสร้างและพัฒนาเยาวชนอันเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสารฉบับเต็มได้ที่…

คลิกที่ภาพ

บทความโดย อ.บอล ปิยวัฒน์
คอลัมน์ Inspiring Polisee…ส่องนโยบายกิจกรรมทางกายดีดีทั่วโลก นำเสนอบทความเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะค้นหาประเด็นเชิงนโยบายที่น่าสนใจและนำมาเล่าสู่กันฟัง (อย่างไม่บิดเบือนเนื้อหา) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตระหนักขบคิด สร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นต่อการขับเคลื่อนนโยบายในสังคมไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในบทความส่วนหนึ่งจะประกอบด้วยความเห็น การตีความ และการเสนอความเห็นของผู้เขียนที่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการและการวิจัยเป็นหลัก โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับได้จากรายการอ้างอิงท้ายบทความ


อ้างอิง 

1. Standards for healthy eating, physical activity, sedentary behaviour and sleep in early childhood education and care settings: a toolkit. Geneva: World Health Organization; 2021. Licence: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.

ขอเชิญชวน ท่านผู้บริหารและคุณครู สมัครเข้าร่วมโครงการ โรงเรียนฉลาดเล่น เพื่อเติมเต็มความสุข รอยยิ้ม และความผูกพัน ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ

ขอเชิญชวน ท่านผู้บริหารและคุณครู สมัครเข้าร่วมโครงการ #โรงเรียนฉลาดเล่น เพื่อเติมเต็มความสุข รอยยิ้ม และความผูกพัน ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ


“เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารสำคัญหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้านกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่เป็นประโยชน์กับคุณครู สถานศึกษา และนักเรียน”

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนท่านผู้บริหารและคุณครูผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนฉลาดเล่นและกดติดตามเว็บไซต์ activekidsthailand.com เพื่อรับข้อมูลข่าวสารผ่านทาง E-Mail ของท่านทุก ๆ 2 เดือน โดยเราจะส่งข้อมูลข่าวสารอัพเดท และเรื่องที่หน้าสนใจเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พัฒนาการ และสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้ท่านผู้บริหารและคุณครูนำไปปรับใช้ในโรงเรียนได้อย่างหลากหลาย รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพคุณครู สถานศึกษา และนักเรียน อาทิ ทุนส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน การอบรมพัฒนาศักยภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกาย ความสุข รอยยิ้ม และความผูกพันกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถกดติดตามเพื่อรับขอมูลข่าวสารได้ที่นี่…https://activekidsthailand.com/active-school/

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-441-0201-4 ต่อ 307, 317, 524, 525

โรงเรียน พื้นที่แห่งโอกาสที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชน

โรงเรียน พื้นที่แห่งโอกาสที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชน

ผลจากการคาดประมาณจากทั่วโลกระบุว่า เด็กและเยาวชนในโรงเรียนมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักสะสมไม่ถึง 60 นาทีต่อวัน ตามคำแนะนำของ WHO มากกว่าถึงร้อยละ 80

ด้านผลสำรวจของ Thailand Report Card ปี 2022
ในด้านอิทธิพลของบริบทแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนสะท้อนว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีนโยบายที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้กับเด็กนักเรียน และมีคุณครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลศึกษา คิดเป็นร้อยละ 65 หรืออยู่ในระดับเกรด B- แต่จากข้อมูลในระดับพฤติกรรมของเด็กนักเรียนพบว่า มีเด็กและเยาวชนไทยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ หรืออยู่ในระดับเกรด D

นั่นหมายความว่า
โรงเรียนจำเป็นต้องออกแบบและจัดหาระบบสนับสนุนเพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอและครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษา เนื่องจากนักเรียนหญิงมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยกว่านักเรียนชายในทุกระดับชั้น ทั้งยังพบว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงด้วย

…..

จากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าว Thailand Report Card ปี 2022 จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อโรงเรียน
โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องยกระดับนโยบายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยเน้นไปที่การสร้างเสริมความสุข ลดความเครียด ทั้งที่สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบทั้งระบบ (Whole – of – School Programmes) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายระหว่างวันให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนควรจัดให้มีการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกิจกรรมทางกายที่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะเพื่อให้นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้นตลอดทั้งวันขณะอยู่ที่โรงเรียน

…..

และเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ได้เผยแพร่เอกสารสรุปเชิงนโยบาย (Policy brief) เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านโรงเรียน (Promoting physical activity through schools: policy brief) แก่ผู้กำหนดนโยบาย นักวางแผน และผู้บริหารโรงเรียน

โดยเอกสารฉบับนี้ได้อธิบายถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่สามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนา ดำเนินการ และประเมินผลให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างไร ด้วยแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทั้งระบบโรงเรียน (Whole – of – School Approaches) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในเด็กและเยาวชน ตลอดจนกรณีศึกษาตัวอย่างที่มีหลักฐานรองรับว่าได้ผลจากหลายประเทศ

เอกสารดังกล่าวได้นำเสนอกิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านโรงเรียน โดยแบ่งออกเป็น 6 ขอบเขต ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีกิจกรรมทางกายผ่านวิชาพลศึกษาที่มีคุณภาพ (Provide physical activity through quality physical education)
  2. ดำเนินการเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการเดินทางด้วยเท้าจากบ้านไปโรงเรียน (Implement strategies to encourage active travel to and from school)
  3. จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเคลื่อนไหน ก่อน และ หลังเลิกเรียน (Provide active before- and after-school programmes)
  4. เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนมีกิจกรรมทางกายระหว่างพัก และมีช่วงเวลานันทนาการ (Provide physical activity opportunities during recess and recreation time)
  5. ฝังให้มีกิจกรรมที่กระฉับกระเฉงในห้องเรียน ในหลักสูตรของโรงเรียน (Embed active classrooms in school curricula)
  6. มั่นใจว่าแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายครอบคลุมสำหรับเด็กที่มีความต้องการเพิ่มเติม (Ensure inclusive physical activity approaches for children with additional needs)

เอกสารฉบับนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กในโรงเรียน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกีฬาและนันทนาการ ผู้กำหนดนโยบายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของเอกสารดังกล่าวได้ที่นี่:
https://www.who.int/publications/i/item/9789240049567

เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็กไทยด้วย Active School

เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็กไทยด้วย Active School

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กไทยและเด็กทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยแย่ลงไปอีก เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคเด็กไทยมีกิจกรรมทางกายที่ไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว
สุขกำลังสองฉบับนี้จึงอยากหยิบยกแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กไทยที่เรียกว่า “Active School หรือ โรงเรียนฉลาดเล่น” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของทีแพคที่ได้รับการสนับสนุนจาก #สสส. และ #มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกับ “#เด็กวัยประถมศึกษา”

ซึ่งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายดังกล่าวนี้ได้ผ่านการวิจัยเชิงทดลองกับเด็กไทยเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและพัฒนาการของนักเรียนที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมในโครงการวิจัย ตั้งแต่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อเนื่องไปจนถึงปีที่ 6 โดยผลงานการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Teaching in Physical Education ซึ่งอยู่ในระดับ Q1 ของฐาน SCOPUS และเป็นวารสารที่ติด Top 5 ใน Social sciences-education และ Health Professional-Sports science
สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษาผลงานวิจัยอย่างละเอียดสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่…
https://doi.org/10.1123/jtpe.2021-0186

Active School เป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กวัยเรียนที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยในแต่ละประเทศจะมีรูปแบบหรือแนวคิดในการออกแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันออกไป ตามความเชื่อและบริบทของแต่ละประเทศ สำหรับการดำเนินการ Active School ในประเทศไทยใช้

แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบ Whole-of-School approach หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนทั้งระบบ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายภายในโรงเรียน (Active Policy) ที่ชัดเจนและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องแสดงท่าทีที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนและสื่อสารนโยบายผ่านไปยังครูผู้ดำเนินกิจกรรม และผู้ปกครองนักเรียนให้เข้าใจถึงเป้าหมาย วิธีการหรือแนวคิด และประโยชน์ของกิจกรรมต่อนักเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมในการดำเนินการในขั้นตอนถัดไป จากนั้นโรงเรียนจะต้องสร้างโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียนตลอดช่วงวันที่อยู่โรงเรียนด้วยกิจกรรมที่หลากหลายตามโอกาสและเวลาที่มี (Active Program)

พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย (Active Place) โดยมุ่งเน้นให้ทุกพื้นที่เล่นภายในโรงเรียนสามารถเล่นได้อย่างปลอดภัย โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในโรงเรียน (Active People) พร้อมกันนี้โรงเรียนจะต้องผนวกกิจกรรมทางกายเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นความพร้อมในการรู้เรียนของนักเรียนผ่านกิจกรรมห้องเรียนฉลาดรู้ (Active Classroom) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในห้องเรียนได้ไปพร้อมกัน ผลการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ Active School ซึ่งโรงเรียนมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ที่ครอบคลุมทั้งนโยบายพื้นที่เล่น กิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน
โดยมีคุณครูเป็นต้นแบบที่กระฉับกระเฉงและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนเปรียบเทียบกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไป พบว่า นักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School จะมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไป โดยในช่วงที่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Active School มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่

พบว่าระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของนักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School สูงกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไปถึงร้อยละ 28 (ร้อยละ 36.6 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School จะมีแนวโน้มการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ลดน้อยลง ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไปมีแนวโน้มการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ Active School

จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กไทยให้เพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนที่อยู่ในวัยประถมศึกษา อย่างไรก็ดี การจะเกิดผลกับเด็กไทยในวงกว้างทั่วทั้งประเทศได้จำต้องอาศัยผู้ใหญ่ใจดีที่อยู่ในกระทรวง รวมถึงเขตการศึกษา และระดับสถานศึกษาที่เห็นถึงความสำคัญและนำแนวคิดดังกล่าวนี้ไปใช้ในโรงเรียนต่อไป

แต่ทั้งนี้คุณครูและพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นว่า Active School จะเป็นประโยชน์กับบุตรหลานของท่านก็สามารถช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้ส่งต่อไปถึงผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากผู้ใหญ่ใจดีท่านใดมีความสนใจแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบ Active School นี้ สามารถศึกษารายละเอียดการดำเนินงานได้จากคู่มือนี้ครับ…

ดาวน์โหลดคู่มือได้ที่นี่: https://bit.ly/3OMjSUZ

อ้างอิง

Katewongsa, P., Choolers, P., Saonuam, P., & Widyastari, D. A. (2022) . Effectiveness of a
Whole-of-School Approach in Promoting Physical Activity for Children: Evidence From Cohort
Study in Primary Schools in Thailand. Journal of Teaching in Physical Education, 1 (aop) , 1-
10.

ช่วงเวลาทองแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ : ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในช่วงรอเปิดเรียน

ช่วงเวลาทองแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ : ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในช่วงรอเปิดเรียน


เดือนพฤษภาคมปีนี้กับปีที่แล้วมีสถานการณ์ที่คล้ายกันมากคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศได้ส่งผลกระทบให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปและเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แต่โชคดีที่ตอนนี้เรามีวัคซีนทางเลือกมากมายที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้แล้ว รวมถึงเด็ก ๆ เริ่มคุ้นชินกับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ แต่หลายครอบครัวยังขาดข้อมูลว่าจะจัดสรรเวลาการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเด็กๆ เมื่อต้องอยู่ที่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียนให้ลงตัวได้อย่างไร ที่สำคัญคือ หลายครอบครัวกังวลกับพฤติกรรมการติดเกม ติดมือถือ ติดแท็ปเล็ตของบุตรหลานที่ดูเหมือนจะมากขึ้นทุกที…!!!

เทคนิคง่ายๆ ที่ทุกๆ ครอบครัวสามารถทำได้คือ จัดตารางเวลากิจกรรมในแต่ละวันให้กับบุตรหลานของตนให้เหมาะสมกับระดับการเรียนรู้และธรรมชาติของพวกเขา ซึ่งจะว่าไปสิ่งนี้ก็เทียบเคียงได้กับวัคซีนที่จะช่วยสร้างภูมิแห่งการเรียนรู้ ป้องกันไม่ให้เด็กๆ ลืมเนื้อหาในบทเรียน

การจัดตารางกิจกรรมประจำวันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลกนิยมใช้ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละวัน แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นสมองของเด็กมีความพร้อมต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การจัดตารางเวลาให้เหมาะสมจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น จากการทบทวนองค์ความรู้ทางวิชาการและจากงานวิจัยต่าง ๆ สามารถแบ่งช่วงเวลาการทำกิจกรรม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ “เล่น เรียน รู้” อย่างมีความสุข โดยอาศัยเทคนิคการจัดวางกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงกับ “ช่วงเวลาทอง” ที่มีในแต่ละวันดังนี้

เวลาทอง คืออะไร ช่วงไหนคือเวลาทอง ???

ผลจากการศึกษาและทบทวนเกี่ยวกับช่วงเวลาการเรียนรู้ของกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 7 ถึง 18 ปี ใน 33 ประเทศทั่วโลก พบข้อสรุปที่น่าสนใจคือ ในแต่ละวันจะมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้ของเด็กในวัยดังกล่าว อยู่เพียงแค่ 2 ช่วง คือ 1) ช่วงเช้าระหว่างเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 2) ช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00 – 16.00 น. โดยในช่วงเวลาเหล่านี้ ผลจากการวิจัยพบว่า เด็กๆ จะมีสมาธิและระดับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในเรื่องหรือเนื้อหาที่เน้นวิชาการหรือการคิดเชิงวิเคราะห์ที่มีความสลับซับซ้อน จึงถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ นั่นเอง (1)

อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองเองต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กในแต่ละวัยก็จะมีช่วงระยะเวลาของสมาธิที่จดจ่อสั้นยาวแตกต่างกันออกไป เด็กชั้นประถมศึกษา 1 ถึง 2 อาจมีช่วงสมาธิที่สูงที่สุดประมาณ 20 – 25 นาที ขณะที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นช่วงสมาธิก็จะยาวนานขึ้นตามลำดับ

แล้วแบบนี้ ช่วงเวลาอื่นๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ ???

ตามที่กล่าวไปข้างต้น หากผู้ปกครองทราบเทคนิคการจัดตารางเวลาให้เหมาะกับการ เล่น เรียน รู้ ของเด็กๆ ก็จะสามารถจัดสรรเวลาในทั้งวันให้เป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของบุตรหลานได้เป็นอย่างดี โดยในแต่ละช่วงวันก็หากิจกรรมที่สัมพันธ์กับระดับการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

7.00 น. และ 17.00 น. ช่วงเวลาฝึกวินัยและความรับผิดชอบ

ช่วงเวลาเช้าก่อนที่เด็ก ๆ ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และช่วงเวลาเย็นหลังกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมกิจกรรม และฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน หรือการช่วยเหลืองานบ้าน และรวมถึงการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นและมีความสุขอยู่กับหน้าจอ (ที่เขารัก) ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่จำเป็นจะต้องกำหนดเวลาและกติกาการใช้หน้าจอให้ชัดเจน และควรฝึกให้เป็นนิสัย

8.00 น. และ 14.00 น. สมองยังไม่พร้อมควรกระตุ้นด้วยการเล่น

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สมองของเด็ก ๆ ยังไม่พร้อมกับการเรียนรู้ ดังนั้น ควรจัดตารางกิจกรรมในช่วงเวลานี้สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง ซึ่งกิจกรรมที่ง่ายที่สุดและสร้างความสนุกและความผ่อนคลายให้กับเด็กจากความเครียดคือ การให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเล่น หรือแม้นกระทั่งการเดินเล่นก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองของเด็ก ๆ ได้ดีเช่นกัน โดยผลจากการศึกษาวิจัยด้วยการสแกนคลื่นสมองของเด็ก พบว่า การให้เด็กได้ออกไปเดินเล่นเพียง 20 นาที สามารถช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น (2)

9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ช่วงเวลาทองของการเรียนรู้

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าช่วงเวลาเช้า 8.00 – 9.00 น. สมองของเด็ก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด แต่ในความจริงแล้วช่วงเวลาซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “เวลาทอง” คือสมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้มากที่สุดคือช่วงเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ซึ่งในช่วงเวลานี้เราควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในวิชาที่ยากและต้องใช้สมองเพื่อการคิดวิเคราะห์ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

13.00 น. ช่วงเลาแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ในช่วงเวลาบ่ายโมงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อมาเผาผลาญอาหารที่เด็ก ๆ ได้รับประทานเข้าไป จึงไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กเรียนรู้วิชาที่ยาก ในช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมถึงกิจกรรมศิลปะและดนตรี อันจะช่วยเติมเต็มความสุขและรอยยิ้มให้กับเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

16.00 น. ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

กิจกรรมทางกายนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมวัยของเด็ก ๆ นอกจากเด็ก ๆ จะต้องมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีทุกวันแล้ว เด็ก ๆ จำเป็นจะต้องทำกิจกรรมทางกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ (3) ซึ่งกิจกรรมทางกายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยดึงเด็กให้ออกมาจากการอยู่กับหน้าจอได้เป็นอย่างดี และหากเป็นไปได้พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเล่น หรือสนับสนุนการเล่นของเด็ก ๆ

จะเห็นได้ว่า การจัดตารางกิจกรรม “เล่น เรียน รู้” เปรียบเป็นเหมือนตารางกิจกรรมที่จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ทั้งในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ รวมถึงช่วงเวลาปกติที่เด็กต้องอยู่ที่บ้านในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม เสมือนเป็น Vaccinate Yourself ที่เราทำได้เอง โดยไม่ต้องรอให้คุณหมอหรือใครมาฉีดวัคซีนให้เรา สามารถดาวน์โหลดตาราง “เล่น เรียน รู้” ได้ที่  https://bit.ly/3bV6sE8


อ้างอิง

1. Gromada A, Shewbridge C. Student learning time: A literature review. 2016.

2. Hillman CH, Pontifex MB, Raine LB, Castelli DM, Hall EE, Kramer AF. The effect of acute treadmill walking on cognitive control and academic achievement in preadolescent children. Neuroscience. 2009;159(3):1044-54.

3. Bull FC, Al-Ansari SS, Biddle S, Borodulin K, Buman MP, Cardon G, et al. World Health Organization 2020 guidelines on physical activity and sedentary behaviour. British journal of sports medicine. 2020;54(24):1451-62.

คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

องค์กร Active Healthy Kids Global Alliance (AHKGA) ได้ออกคำแถลงเรื่อง คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ AHKGA จึงได้ดำเนินการแปลคำแถลงดังกล่าวเป็นภาษาไทย (ขณะนี้มีการแปลไปแล้วกว่า 6 ภาษา) เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงสุขภาพและหาโอกาสการมีกิจกรรมทางกายให้กับบุตรหลาน เพื่อให้เด็ก ๆ ยังคงมีสุขภาวะที่ดี แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม รวมถึงวิธีการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

แหล่งที่มา (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ) : https://www.activehealthykids.org/2020/04/06/guidance-on-healthy-movement-behaviours-for-kids-during-the-covid-19-pandemic/

#กิจกรรมทางกาย #เด็ก #โควิด19 #รู้อยู่สุข #สสส #AHKGA #TPAK