นับเป็นชุดเครื่องมือที่มีเป้าหมายโดยตรงเพื่อสื่อสารและกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู ผู้ดูแลเด็กทั้งในโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย ในประเทศกลุ่มสมาชิกและโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ได้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้รับการส่งเสริมความรู้และการดูแลที่เหมาะสมตามพัฒนาการของช่วงวัย อันจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ (1)

ชุดเครื่องมือดังกล่าว ได้นำเสนอกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ด้านการให้ความรู้และดูแลเด็กปฐมวัยในภาพรวมไว้ 4 มาตรฐาน อันมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้  (1)

STANDARD 1: Build children’s knowledge and skills ที่ว่าด้วยเรื่อง การที่สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยได้ผนวกรวมโอกาสที่จะสร้างความรู้และทักษะด้านการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหวเข้าไปในแผนและกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละวันของเด็ก ๆ (สร้างโอกาสในการเรียนรู้และทักษะ)

STANDARD 2: Provide supportive environments ที่หมายถึง การที่สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยออกแบบและส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหว โดยพิจารณาถึงหลักของความหลากหลาย การมีส่วนร่วม ความเสมอภาค และการอยู่ร่วมกัน (สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างเสมอภาค)

STANDARD 3: Work with families/caregivers ที่สนับสนุนให้สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ครอบครัว รวมถึงผู้ดูแลระดับปฐมวัย ในการส่งเสริม ออกแบบ และตัดสินใจในประเด็นเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการเคลื่อนไหว (ทุกฝ่ายร่วมเอาใจใส่ดูแล)

STANDARD 4: Ensure safety ที่ประสงค์ให้สถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยรับรองความปลอดภัยของเด็ก ๆ ในเรื่องของการนอน สุขอนามัยและการจัดการในทางปฏิบัติด้านอาหาร รวมถึงการจัดสรรให้เกิดความปลอดภัยในการเข้าถึง การอยู่ร่วมกันบนฐานของวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมในเรื่องการเล่น และโอกาสในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสร้างสมรรถนะ (เข้าถึงอย่างปลอดภัย)

ทั้งนี้ 4 มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น เมื่อศึกษาในรายละเอียดอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อนหน้านี้ ทว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อดูแลเด็กปฐมวัยในสถานศึกษาและสถานดูแลเด็กปฐมวัยที่ให้ความสำคัญหรือจุดเน้นในเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอน ยังไม่ได้ถูกกำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและครอบคลุมทั้ง 4 มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีเริ่มที่ฝ่ายนโยบายในการดูแลเด็กปฐมวัย ที่จะหยิบและนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ไปออกแบบให้เกิดมาตรการสำหรับการสร้างและพัฒนาเยาวชนอันเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสารฉบับเต็มได้ที่…

คลิกที่ภาพ

บทความโดย อ.บอล ปิยวัฒน์
คอลัมน์ Inspiring Polisee…ส่องนโยบายกิจกรรมทางกายดีดีทั่วโลก นำเสนอบทความเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะค้นหาประเด็นเชิงนโยบายที่น่าสนใจและนำมาเล่าสู่กันฟัง (อย่างไม่บิดเบือนเนื้อหา) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตระหนักขบคิด สร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นต่อการขับเคลื่อนนโยบายในสังคมไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในบทความส่วนหนึ่งจะประกอบด้วยความเห็น การตีความ และการเสนอความเห็นของผู้เขียนที่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการและการวิจัยเป็นหลัก โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับได้จากรายการอ้างอิงท้ายบทความ


อ้างอิง 

1. Standards for healthy eating, physical activity, sedentary behaviour and sleep in early childhood education and care settings: a toolkit. Geneva: World Health Organization; 2021. Licence: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.