“Active Classrooms” จัดเป็น 1 ใน 6 Domains ในการสนับสนุนกิจกรรมทางกายในเยาวชน โดยการสอดแทรกโปรแกรมการมีกิจกรรมทางกาย เข้ากับการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาการ จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนจดจำเนื้อหาการเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งผลเชิงบวกต่อการเพิ่มระดับกิจกรรมทางกาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Global Action Plan on Physical Activity (GAPPA) 2018–2030 โดยเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากโรงเรียนจัดเป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของวัน และเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการนั่งเรียนเป็นเวลานานตลอดทั้งวันทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ขณะที่การศึกษาวิจัยการส่งเสริม Active School ในประเทศไทย พบว่า นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมกิจกรรม Active Classrooms จะมีสมาธิและความเข้าใจในการเรียนดีกว่านักเรียนทั่วไป และมีความรู้สึกว่าห้องเรียนเป็นสถานที่ที่มีความสุขสนุกสนานมากกว่า ด้วยการออกแบบการเรียนการสอนตามหลัก Active Classrooms จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในเยาวชนไปพร้อม ๆ กัน


“เล่น เรียน รู้”

ตัวอย่างการบริหารจัดการ Active Classrooms แบบฉบับโรงเรียนไทย ?

ศูนย์ทีแพคได้นำ Active Classrooms มาใช้เป็น 1 ในองค์ประกอบของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ภายใต้โครงการวิจัยโรงเรียนฉลาดเล่น: Active School เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการวิจัยแบบ Cohort Study ที่ติดตามผลการวิจัยกับนักเรียนกลุ่มเดิมต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อติดตามผลการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนทดลองและควบคุม โดย Active Classrooms ถูกเรียกเป็นภาษาไทยและใช้สื่อสารในกลุ่มครูแกนนำที่เข้าร่วมการวิจัยว่า “ห้องเรียนฉลาดรู้” เพื่อเป็นการเสริมแรงและเสริมความมั่นใจให้กับครูผู้นำแนวคิดไปใช้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดการแบ่งชั่วโมงการเรียนเป็น 3 ช่วงเรียกว่า “เล่น เรียน รู้” เพื่อให้ครูผู้ปฏิบัติเข้าใจในหลักการและวิธีการนำแนวคิดไปปรับประยุกต์ใช้ได้ง่ายที่สุด

ในช่วงแรก “เล่น” เปรียบเสมือน “การนำเข้าสู่บทเรียน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ครูผู้สอนใช้เป็นกิจกรรมเริ่มต้นในการสอนปกติอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าไปอยู่ในเนื้อหาการเรียนการสอนโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยแบ่งระดับความเข้มข้นของกิจกรรมเป็น 3 ระดับ คือ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายหรือส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น กิจกรรมกายบริหาร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ กิจกรรมเข้าจังหวะ เป็นต้น ถัดมาคือการนำกิจกรรมทางกายเข้ามาผสมเข้ากับเนื้อหาการเรียนรู้ เช่น แบ่งกลุ่มวิ่งเปี้ยวแข่งเขียนคำศัพท์ คำเป็นคำตาย คิดเลขเร็ว เป็นต้น และสุดท้ายคือการเพิ่มระดับความยาก-ง่ายของการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าไปในกิจกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด ซิกแซ็ก เขย่ง ถอยหลัง เป็นต้น สำหรับช่วง “เรียน” คือช่วงเวลาตรงกลางที่จะมีเวลาประมาณ 30 นาที ให้ครูผู้สอนได้สอนเนื้อหาวิชาหลักให้กับนักเรียน โดยใช้วิธีการสอนรูปแบบใดก็ได้ที่เชื่อมั่นว่าจะดีที่สุดสำหรับนักเรียน และช่วงสุดท้ายคือช่วง “รู้” เป็นช่วงเวลา 10 – 20 นาทีสุดท้ายที่ครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนออกมาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำกิจกรรมเหมือนช่วงเล่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่านักเรียนทำได้ดีขึ้นหรือไม่ (กิจกรรมก่อน-หลัง) หรือจะให้นักเรียนนำเสนอความรู้ ทำใบงาน หรือเปิดอภิปรายในห้องเรียนก็ได้ (ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563)

ภาพตัวอย่างการจัดสรรเวลาห้องเรียนฉลาดรู้ Active Classroom
(ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2563)

นอกจากการแบ่งเวลาชั่วโมงการเรียนการสอนเป็น 3 ช่วงแบบ “เล่น เรียน รู้” แล้ว ยังสามารถสอดแทรกกิจกรรมทางกายเข้าไปอยู่ตลอดช่วงเวลาเรียนได้เช่นเดียวกันกับวิชาพลศึกษา หรือลูกเสือ-เนตรนารี หากแต่ครูผู้สอนจะต้องดูความเหมาะสมของเนื้อหาที่จะต้องการถ่ายทอดให้กับนักเรียน และกิจกรรมทางกายที่จะนำไปใช้ว่าเหมาะสมกันหรือไม่ เช่น บางเนื้อหานักเรียนอาจจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับดินชนิดต่าง ๆ หรือต้นไม้ที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งครูผู้สอนสามารถพานักเรียนออกไปเดินสำรวจและจดบันทึกการเรียนนอกห้องเรียนได้ หรือให้โจทย์กับนักเรียนแล้วแบ่งกลุ่มกันออกไปสำรวจหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียนตามโจทย์ที่กำหนดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และหากจัดกิจกรรมในห้องเรียนอาจจะต้องพิจารณาระดับความหนักเบาของกิจกรรมทางกายที่จะให้นักเรียนได้ทำ เพื่อให้มีช่วงพักสำหรับการคิดวิเคราะห์หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วให้นักเรียนกลับมาทำกิจกรรมทางกายอีกครั้งก็ได้ ซึ่งกิจกรรมที่เหมาะสมอาจจะเป็นรูปแบบการแข่งขันระหว่างกลุ่ม หรือการทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้กำหนดกติกาและสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สอดแทรกเนื้อหาการเรียนรู้ไปตลอดทั้งคาบเรียน ครูผู้สอนจะต้องมีการเตรียมพร้อมและใช้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการและควบคุมเวลาให้เป็นไปอย่างเหมาะสม


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่:

https://tpak.or.th/th/article/764?fbclid=IwAR216uoXkNE5X9_J5uC1vb7JfHBMqbPdoo5qsvhinc7dO9hG8Hk8ypBkgr4