พัฒนาการในวัยเด็กนั้นสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็ก เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ เติบโต และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน

จากแวดล้อมรอบข้าง[i] การเจริญเติบโตอย่างมีพัฒนาการที่ดีของเด็ก จำเป็นต้องได้รับการ เล่น กิน นอน ที่เพียงพอและเหมาะสม

เพราะการได้เล่นอย่างสมวัย กินอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และได้นอนอย่างเพียงพอ

เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เด็กควรได้รับอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง


“เล่น กิน นอน” ทำไม อย่างไร?

ข้อมูลของกรมอนามัยที่เปิดเผยผลการสำรวจพัฒนาการเด็ก ประจำปี 2563 พบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา พัฒนาของเด็กมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนตุลาคม ปี 2562 เด็กมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 91.7 ลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 88.3 ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563[ii] นอกจากนั้น จากผลการประเมินพัฒนาการของนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2560 ปีการศึกษา 2561 ระดับประเทศ[iii] พบว่า พัฒนาการในภาพรวมทุกด้านของนักเรียน ยังมีสัดส่วนของนักเรียนกว่าร้อยละ 13 ที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น และเมื่อพิจารณารายด้าน ยังพบว่า พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็ก ยังน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ กล่าวคือ เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกายดีอยู่เพียงร้อยละ 75 ซึ่งอีกกว่าร้อยละ 30 คือสัดส่วนที่น่าเป็นห่วง เพราะเด็กควรมีพัฒนาการอย่างสมวัย ในทุก ๆ ด้าน

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนทั้งตอนอยู่บ้าน และตอนไปโรงเรียน ซึ่งการเล่น กิน นอน ที่เป็นปกติในแต่ละวันนั้น เป็นสิ่งที่ถูกละเลยถึงความสำคัญของประโยชน์และโทษไป ทั้งจากผู้ปกครอง ครูในโรงเรียน และตัวนักเรียนเองด้วย ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการ เล่น กิน นอน ของเด็ก ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และง่ายที่สุด ที่ผู้ปกครองและครู ควรให้ความตระหนักและใส่ใจมากยิ่งขึ้น


เรื่องเล่น : เรื่องสนุก ๆ ที่เด็กทุกคนชอบทำ

การเล่นกับเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่คู่กันตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือ การเล่นจะส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีและสมวัยได้ เนื่องจาก การเล่นถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายไม่ว่าจะเป็นระดับเบา ระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับหนัก ล้วนแล้วแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกาย ทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง แล้วยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายอย่างสอดคล้องประสานกันด้วย มีงานวิจัยของประเทศอเมริกา ที่ได้รับการรับรองโดย National Association of Sport and Physical Education (NASPE) และ American Heart Association รายงานว่า เด็กนักเรียนที่ได้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ มีอิทธิพลเชิงบวกต่อสมาธิ ความจำ และพฤติกรรมในห้องเรียน โดยแสดงผลอย่างชัดเจนตด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด[iv] เพราะช่วงเวลาที่เด็กได้เล่นและเคลื่อนไหวออกแรงนั้น สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า สาร Endorphins ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวล และมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น นอกจากนั้น การมีกิจกรรมทางกาย ยังเป็นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย สามารถลดภาวะน้ำหนักตัวเกินในเด็กได้อีกด้วย ซึ่งการเล่นในเด็กนั้น จะได้ประสิทธิภาพมากที่สุด คือต้องเป็นการเล่นที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนัก อย่างน้อย 60 นาที/วัน จึงจะพียงพอและเหมาะสม[v]

การกิน: กินอย่างไรให้เหมาะสม

ตามปกติ การใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ในแต่ละวัน มากกว่า 6 ชั่วโมง ใช้อยู่ที่โรงเรียนและอาหารที่เด็กได้กินในโรงเรียน ส่วนใหญ่แล้วเด็กไม่สามารถเลือกเมนูเองได้ เพราะทางโรงเรียนเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้ แม้จะมีคู่มือการจัดอาหารกลางวันของนักเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา[vi] ออกมาเป็นคู่มือและแจกแจงรายละเอียดชัดเจน ว่ามีแนวทางในการจัดอาหารอย่างไรถึงจะถูกหลักโภชนาการ ด้วยเหตุนี้ หากคุณครูในโรงเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมอาหารให้กับเด็ก มีการวางแผน และจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม มีการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ชัดเจน ใส่ใจในการเลือกทำเมนูอาหารที่เด็กจะได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน ในขณะที่ผู้ปกครองที่อยู่ทางบ้านก็ต้องช่วยกันใส่ใจในประเภทอาหารการกินของลูกหลานให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

การนอน : เรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ช่วงเวลาในการนอนของเด็ก สมองจะหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งจะหลั่งมากหลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง อีกทั้งการนอนหลับยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย หากเด็กนอนไม่เพียงพอ สมองก็จะหลั่งฮอร์โมนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้พัฒนาการในเด็กล่าช้าตามไปด้วย[vii] จากข้อมูลการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2562[viii] พบว่า ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการนอนของเด็กและเยาวชนอายุ 5-17 ปี เท่ากับ 8.30 ชั่วโมง/วัน โดยมีพฤติกรรมการนอนหลับน้อยที่สุดเพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ส่วนพฤติกรรมการนอนหลับมากที่สุดอยู่ที่ 14 ชั่วโมง/วัน ซึ่งตามปกติแล้วนั้น ช่วงเวลาการนอนที่เพียงพอต่อวันของเด็กวัยเรียน คือ 9-12 ชั่วโมง/วัน[ix] ข้อมูลในส่วนนี้บ่งชี้ถึงความไม่เพียงพอของการนอนในเด็กที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเอาใจใส่ในระยะเวลาการนอนของลูก และควรส่งเสริมให้เด็กได้รับการนอนที่เพียงพอ


“โรงเรียนตระหนักรู้ ครูและผู้ปกครองเอาใจใส่
เด็กไทยต้องได้เล่น กิน นอน”

อ่านเพิ่มเติม: TPAK – ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย



อ้างอิงจาก

[i] รัมภา โสดจำปา. ผลของโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมมารดาในการกระตุ้นพัฒนาการทารก แรกเกิด-2 เดือน วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล 2552. หน้า 10-12.

[ii] สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ. (2563). ประชุมสรุปผลการรณรงค์คัดกรองพัฒนาการประจำปี พ.ศ. 2563. เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563 จาก http://nich.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=819

[iii] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). รายงานผลการประเมินพัฒนาการนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ปีการศึกษา 2561. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรไทย (น.ส.พ. ฟ้าเมืองไทย).

[iv] Slater, S. J., Nicholson, L., Chriqui, J., Turner, L., & Chaloupka, F. (2012). The impact of state laws and district policies on physical education and recess practices in a nationally representative sample of US public elementary schools. Archives of pediatrics & adolescent medicine, 166(4), 311-316.
[v] ปิยวัฒน์ เกตุวงศา, กรกนก พงษ์ประดิษฐ์. (2563). ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19: Regenerating physical activity in Thailand after COVID-19 pandemic. นครปฐม: ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

[vi] สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2558). คู่มือการจัดอาหารหารกลางวันของนักเรียนตามมาตรฐานโภชณาการ สุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัย สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.

[vii] ลัลลิยา ธรรมประทานกุล. (2557). การนอนในเด็กสำคัญอย่างไร. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563 จาก https://th.rajanukul.go.th/preview-3501.html

[viii] โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทยปี 2562 ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

[ix] Tulya. (2563). การนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ทารกจนวัยเรียน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ห้ามทำกับลูก. เข้าถึงเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563 จาก https://th.theasianparent.com