การขาดกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของคนทั่วโลก รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น (Willumsen & Bull, 2020) โดยปัจจุบันมีประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 28 (Guthold et al., 2018) วัยรุ่นร้อยละ 80 ขาดกิจกรรมทางกาย (Organization, 2014) แต่ยังไม่มีข้อมูลจากทั่วโลกที่แสดงถึงข้อมูลกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กเล็กที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้เลย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพัฒนาเครื่องมือและสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอยู่ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ร่วมดำเนินการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายและการนอนหลับตลอด 24 ชั่วโมงร่วมกับประเทศสมาชิกอีกมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก (Okely et al., 2021) และก่อนที่จะมีการนำข้อมูลการสำรวจมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เราอยากจะนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กกลุ่มนี้ก่อน เพื่อเป็นการขั้นเวลาการรอข้อมูลสำคัญที่จะเปิดเผยในอีกไม่นานนี้
ประโยชน์ของกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว และจะเป็นช่วงที่นิสัยของเด็กนั้นก่อตัวขึ้น รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของครอบครัวจะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Organization, 2019) ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พัฒนาขึ้นในวัยเด็กสามารถมีอิทธิพลต่อระดับและรูปแบบกิจกรรมทางกายตลอดช่วงชีวิต (Malina, 1996; Telama et al., 2005) โดยการเล่นของเด็กแบบ Active play และโอกาสในการเล่นแบบมีโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้างสามารถช่วยเสริมทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ (Motor skills) และการสำรวจสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก นอกจากนี้ กิจกรรมทางกายยังช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเชิงบวกและการพัฒนาทางสังคม (Burdette & Whitaker, 2005) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว สมรรถภาพทางกาย รวมถึงสุขภาพกระดูกและโครงร่าง (Janz et al., 2010; Moore et al., 2003; Organization, 2019) ที่สำคัญกิจกรรมทางกายยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก (Jiménez-Pavón et al.; Moore et al., 2003) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (Bürgi et al., 2011; Sääkslahti et al., 2004)
ข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน
WHO ให้ข้อแนะนำว่าเด็กก่อนวัยเรียน “ควรมีกิจกรรมทางกายในระดับความหนักใดก็ได้อย่างน้อย 180 นาที โดยอย่างน้อย 60 นาทีเป็นกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงระดับหนัก และขอให้ทำกิจกรรมทางกายกระจายไปตลอดทั้งวัน ยิ่งมากยิ่งดี” โดยกิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ใช้พลังงานมากกว่าขณะพัก ซึ่งในเด็กเล็กอาจรวมถึง การเดิน การคลาน การวิ่ง การกระโดด การทรงตัว การปีนผ่านสิ่งของต่าง ๆ การเต้นรำ การขี่ของเล่นที่มีล้อ การขี่จักรยาน การกระโดดเชือก เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้น เด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรนั่งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง และไม่ควรใช้หน้าจอนานเกินกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผู้ดูแลควรมีส่วนร่วมในการเล่านิทานหรืออ่านหนังสือร่วมกันกับเด็ก และเด็กก่อนวัยเรียนควรนอนอย่างมีคุณภาพ 10 – 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งรวมเวลาการนอนหลับระหว่างวัน และควรมีเวลาการเข้านอนและตื่นนอนที่สม่ำเสมอ (Organization, 2019)
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียน
ข้อมูลสถิติประชากรจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองที่รายงานจำนวนเด็กอายุ 3 – 4 ปี (เฉพาะผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและมีสัญชาติไทย) ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ปี 2566 รายงานว่าปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 1,246,759 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 640,750 คน และเพศหญิงจำนวน 606,009 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2566) ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 (ราชกิจจานุเบกษา, 2562) ระบุว่า “ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” หมายถึง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ซึ่งหากจะพิจารณาตามความหมายข้างต้นน่าจะหมายรวมถึงครูและบุคลากรของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการอยู่ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์ โรงเรียน ศูนย์การเรียน หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐหรือเอกชน และสถาบันศาสนา ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย
ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับบริบทและพื้นที่อยู่อาศัยของเด็ก หรือ Setting เพื่อกำหนดพื้นที่ ผู้ดูแล และวิธีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้อย่างตรงจุด สามารถแบ่งพื้นที่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กก่อนวัยเรียนแบบง่ายออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ “บ้าน” ซึ่งจะมี พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก และพื้นที่ที่เป็น “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งจะมีครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแลเด็ก จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทย ซึ่งสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ตามลิงค์ด้านล่าง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://tpak.or.th/th/article/683