เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็กไทยด้วย Active School
เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กไทยและเด็กทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยแย่ลงไปอีก เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคเด็กไทยมีกิจกรรมทางกายที่ไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว
สุขกำลังสองฉบับนี้จึงอยากหยิบยกแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กไทยที่เรียกว่า “Active School หรือ โรงเรียนฉลาดเล่น” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของทีแพคที่ได้รับการสนับสนุนจาก #สสส. และ #มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกับ “#เด็กวัยประถมศึกษา”
ซึ่งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายดังกล่าวนี้ได้ผ่านการวิจัยเชิงทดลองกับเด็กไทยเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและพัฒนาการของนักเรียนที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมในโครงการวิจัย ตั้งแต่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อเนื่องไปจนถึงปีที่ 6 โดยผลงานการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Teaching in Physical Education ซึ่งอยู่ในระดับ Q1 ของฐาน SCOPUS และเป็นวารสารที่ติด Top 5 ใน Social sciences-education และ Health Professional-Sports science
สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษาผลงานวิจัยอย่างละเอียดสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่…
https://doi.org/10.1123/jtpe.2021-0186
Active School เป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กวัยเรียนที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยในแต่ละประเทศจะมีรูปแบบหรือแนวคิดในการออกแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันออกไป ตามความเชื่อและบริบทของแต่ละประเทศ สำหรับการดำเนินการ Active School ในประเทศไทยใช้
แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบ Whole-of-School approach หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนทั้งระบบ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายภายในโรงเรียน (Active Policy) ที่ชัดเจนและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องแสดงท่าทีที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนและสื่อสารนโยบายผ่านไปยังครูผู้ดำเนินกิจกรรม และผู้ปกครองนักเรียนให้เข้าใจถึงเป้าหมาย วิธีการหรือแนวคิด และประโยชน์ของกิจกรรมต่อนักเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมในการดำเนินการในขั้นตอนถัดไป จากนั้นโรงเรียนจะต้องสร้างโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียนตลอดช่วงวันที่อยู่โรงเรียนด้วยกิจกรรมที่หลากหลายตามโอกาสและเวลาที่มี (Active Program)
พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย (Active Place) โดยมุ่งเน้นให้ทุกพื้นที่เล่นภายในโรงเรียนสามารถเล่นได้อย่างปลอดภัย โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในโรงเรียน (Active People) พร้อมกันนี้โรงเรียนจะต้องผนวกกิจกรรมทางกายเข้ากับการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นความพร้อมในการรู้เรียนของนักเรียนผ่านกิจกรรมห้องเรียนฉลาดรู้ (Active Classroom) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในห้องเรียนได้ไปพร้อมกัน ผลการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ Active School ซึ่งโรงเรียนมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ที่ครอบคลุมทั้งนโยบายพื้นที่เล่น กิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน
โดยมีคุณครูเป็นต้นแบบที่กระฉับกระเฉงและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนเปรียบเทียบกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไป พบว่า นักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School จะมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไป โดยในช่วงที่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Active School มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่
พบว่าระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของนักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School สูงกว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไปถึงร้อยละ 28 (ร้อยละ 36.6 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนที่อยู่ในโครงการ Active School จะมีแนวโน้มการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ลดน้อยลง ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไปมีแนวโน้มการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ Active School
จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กไทยให้เพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนที่อยู่ในวัยประถมศึกษา อย่างไรก็ดี การจะเกิดผลกับเด็กไทยในวงกว้างทั่วทั้งประเทศได้จำต้องอาศัยผู้ใหญ่ใจดีที่อยู่ในกระทรวง รวมถึงเขตการศึกษา และระดับสถานศึกษาที่เห็นถึงความสำคัญและนำแนวคิดดังกล่าวนี้ไปใช้ในโรงเรียนต่อไป
แต่ทั้งนี้คุณครูและพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นว่า Active School จะเป็นประโยชน์กับบุตรหลานของท่านก็สามารถช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้ส่งต่อไปถึงผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากผู้ใหญ่ใจดีท่านใดมีความสนใจแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบ Active School นี้ สามารถศึกษารายละเอียดการดำเนินงานได้จากคู่มือนี้ครับ…
ดาวน์โหลดคู่มือได้ที่นี่: https://bit.ly/3OMjSUZ
อ้างอิง
Katewongsa, P., Choolers, P., Saonuam, P., & Widyastari, D. A. (2022) . Effectiveness of a
Whole-of-School Approach in Promoting Physical Activity for Children: Evidence From Cohort
Study in Primary Schools in Thailand. Journal of Teaching in Physical Education, 1 (aop) , 1-
10.