เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่า ถ้าการที่ “เด็กมีปัญหาสุขภาพ” ถูกนิยามให้กลายเป็นความผิดที่ต้องนำไปไต่สวนหาผู้รับผิดในชั้นศาล ใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เด็ก หรือ ผู้ปกครอง หรือ โรงเรียน หรือ เพื่อน หรือ ร้านค้า หรือ ใครกันแน่ที่ต้องมารับความผิดกับเรื่องนี้
ปัจจุบันวิธีการเลี้ยงเด็กแต่ละครอบครัวมีวิธีการแตกต่างกัน ด้วยความจำเป็นของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งชีวิตความเป็นอยู่ ที่อาจจะไม่เอื้อให้การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ได้รับการดูแลอย่างสมดุล เช่น บางครอบครัวที่มีความจำเป็นที่ต้องให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือเพราะไม่มีเวลา จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดกิจกรรมทางกาย จึงส่งผลต่อสุขภาพ หรือการที่เด็กคนหนึ่งต้องกลายเป็น ‘เด็กอ้วน’ อาจเกิดจากการวิถีชีวิตที่เร่งรีบจึงไม่สามารถเลือกอาหารตามหลักโภชนาการให้กับเด็กได้ หรือการที่ผู้ปกครองมีภารกิจจึงไม่สามารถพาเด็กเข้านอนได้ตรงกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำให้เด็กเติบโตได้สมวัย จากสถานการณ์และสมมติฐานที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บ่มเพาะความรู้ที่จะจุดประกายให้ผู้ปกครอง ผู้ใกล้ชิด รวมถึงคุณครูทุกคน มารู้จักและเรียนรู้วิธีการเลี้ยงเด็กให้มีชีวิตที่สมดุล สามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้สมวัยได้ ผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ ที่ต้องการใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอสั้น ให้ผู้ปกครองตระหนัก เห็นคุณค่า รู้วิธีและใส่ใจที่จะดูแลเด็กให้ ‘วิ่งเล่น กินดี นอนพอ’ ตั้งแต่อายุยังน้อย
สสส. ชวนทุกคนมารู้จักคลิป ‘พลิกปมคดีเด็ก’ ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เริ่มต้นจากการไต่สวนคดีอย่างเข้มข้น จนท่านเปาก็พบว่า เด็กก็ใช้ชีวิตของเขาไปตามวิถีที่เคยชินมาตั้งแต่เกิด ส่วนพ่อแม่ก็เชื่อมั่นมาตลอดว่าได้ดูแลลูกอย่างถูกต้องตามความสามารถที่พวกเขามีแล้ว แต่ทั้งเด็กและพ่อแม่ กลับยังหนีไม่พ้นที่จะพบเจอปัญหาสุขภาพของเด็ก ซึ่งในที่สุดตัวปัญหาก็ปรากฎตัวขึ้นในศาล เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า “ความไม่สมดุล”
จะเป็นอย่างไร ถ้า “ความไม่สมดุล” คือ ผู้ร้ายตัวจริง … ผู้ร้ายที่ทำให้เด็กไม่ได้วิ่งเล่นออกกำลังกายมากพอ จนทำให้เด็กไม่ได้กินดีสมวัยตามหลักโภชนาการที่ควรจะเป็น หรือทำให้เด็กไม่ได้นอนพอเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและร่างกาย ในหนังจึงต้องการสื่อสารเรื่องนี้ผ่านการเล่าเรื่องให้เห็นว่ามีวิธีกำจัดการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกวิธีทิ้งไปได้ด้วยการ “ประหารความไม่สมดุล” ที่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ทำได้
คลิป ‘พลิกปมคดีเด็ก’ สะท้อนว่า การ “ประหารความไม่สมดุล” ของผู้ปกครองทุกครอบครัว ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการลงโทษหรือบังคับแก้ไขได้ด้วยการโยนความรับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปให้เป็นภาระหน้าที่ของเด็กเอง แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องร่วมมือช่วยกันประหารความไม่สมดุลในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเริ่มจากการช่วยกันทบทวนวิธีการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง ให้ถูกต้องตามหลักสามเหลี่ยมสมดุล
เพราะเมื่อหาจุดที่เป็นปัญหาเจอ พ่อแม่ก็จะสามารถใช้เครื่องประหารรุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่า “สามเหลี่ยมสมดุล” – “วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” ได้
และเมื่อได้รู้จักการ“ประหารความไม่สมดุล” จากคลิป ‘พลิกปมคดีเด็ก’ มากขึ้น สสส. หวังว่า พ่อแม่ที่รับชมจะสัมผัสและเรียนรู้วิธีเลี้ยงเด็กให้พวกเขาเติบโตสมวัยและมีสุขภาวะที่ดี สสส. หวังว่าทุกคนจะเดินออกจากศาลได้ด้วยความเข้าใจใหม่ หลังรับชมแคมเปญนี้ ที่สำคัญต้องเชื่อมั่นว่าพวกเราสามารถช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับลูกได้ด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่า “สามเหลี่ยมสมดุล” ผ่าน 3 วิธี คือ
- สร้างกติกาเล่นโทรศัพท์มือถือ ชวนลูก “วิ่งเล่น” ออกกำลังกาย
- ออกแบบมื้ออาหารให้ลูก “กินดี ” มีผักผลไม้ให้ได้ครึ่งนึงในแต่ละมื้อ
- ส่งลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ ปิดไฟ ปิดเสียง ช่วยให้เด็ก “นอนพอ”
เพื่อร่างกาย สมอง ที่เติบโตสมวัย พร้อมเรียนรู้และมีความสุข