หัวอกคนเป็นพ่อแม่ย่อมเจ็บปวดใจเมื่อเห็นลูกเจ็บป่วย ไม่แข็งแรง แต่คงน่าเจ็บใจ ถ้าหากได้รู้ว่าสาเหตุที่ลูกป่วยนั้นมาจากการขาดสมดุลของพฤติกรรมง่ายๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน

โดยเฉพาะการกิน นอน และออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างก็รู้ว่าดี แต่ก็มักมองข้ามไปเพราะไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจไม่รู้ตัวว่าลูกหลานของเรากำลังมีปัญหา ก็ถือเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น

ความหวานซ่อนโรค

มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเด็กกับของหวานนั้นเป็นของคู่กันและกินได้ไม่เป็นอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่าความหวานนั้นเป็นภัยต่อสุขภาพของเด็กไม่แพ้ผู้ใหญ่ ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไป น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วน ซึ่งผลสำรวจจากกรมอนามัยในปี 2564 พบแนวโน้มเด็กไทยติดรสหวานเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ไม่ว่าจะเป็น ชานม น้ำหวาน หรือน้ำอัดลม

ภัยเงียบจากโรคอ้วน

เด็กแก้มยุ้ยอวบอ้วนอาจดูน่ารักในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจหากเด็กมีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบเด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคอ้วนสำหรับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นภัยเงียบที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมาย อาจส่งผลกระทบกับร่างกายแทบจะทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะในปัจจุบันพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กที่มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น และที่น่าตกใจก็คือเด็กไทยมีภาวะอ้วนเป็นจำนวนมากจนติดอันดับสามของกลุ่มประเทศอาเซียน

ติดเกมเสี่ยงโตช้า

พ่อแม่บางคนปล่อยให้ลูกใช้เวลาว่างไปกับการเล่นเกมเพื่อคลายเครียดจากการเรียนหนังสือ หรือเพื่อให้ลูกนั่งนิ่งๆ หยุดวิ่งซุกซน ดูเผินๆ ลูกก็เหมือนจะมีความสุขดี แต่หากปล่อยให้ทำเป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชิน ลูกอาจมีพฤติกรรมติดเกม ซึ่งองค์การอนามัยโลกเพิ่งออกมาประกาศให้เป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ และที่น่าห่วงสำหรับเด็กก็คือเรื่องของพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามวัย พฤติกรรมติดเกมอาจนำไปสู่ภาวะนั่งนิ่งจนขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ไม่ได้พัฒนามวลกล้ามเนื้อและกระดูก รวมทั้งการเล่นเกมจนนอนดึกหรือนอนไม่พอก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและพลาดช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน จากงานวิจัยพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กไทย โดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเล่นเกมเป็นประจำทุกวัน เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง และในวันหยุดอาจจะเล่นมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์สุขภาพของเด็กไทยนั้นน่าเป็นห่วงกว่าที่คิด เพราะพฤติกรรมติดหวานจากขนมและเครื่องดื่ม การปล่อยให้มีภาวะอ้วนและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีพฤติกรรมติดเกมจนขาดการออกกำลังกาย และนอนไม่พอ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่มักจะถูกละเลยไปเพียงเพราะคิดว่า “ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” หรือ “ไม่ใช่ปัญหา” แต่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเติบโตตามวัย และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันผลักดันแคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันปรับพฤติกรรมของลูกหลานให้มีความสมดุล โดยเฉพาะ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อน 9-12 ชั่วโมงต่อวัน การออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน และการกินอาหารดีมีประโยชน์ ไม่ขาดผักผลไม้ ทั้ง 3 สมดุลนี้ล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพกายใจของเด็ก

หันมาห่วงใยเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าห่วงกันดีกว่า!

รู้จักสามเหลี่ยมสมดุลเพิ่มเติมได้ที่ https://activekidsthailand.com